ไขข้อเท็จจริง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) อาจจะมีหลาย ๆ เรื่องที่คล้ายกับปัญหาการนอนหลับในเรื่องอื่น ๆ นำไปสู่ความเข้าใจที่ทั้งเป็นจริงและไม่เป็นจริงเกี่ยวกับภาวะนี้ โดยความเข้าใจที่ถูกต้อง จะนำไปสู่แนวทางการรับมือที่เหมาะสม
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) เป็นเพียงการนอนกรน (Snoring) เท่านั้น: ไม่เป็นความจริง
การนอนกรนเป็นปัญหาและความผิดปกติของการนอนหลับที่พบบ่อย โดยเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ผู้ที่เป็นภาวะดังกล่าวมีโอกาสหยุดหายใจได้มากถึง 400 ครั้งตลอดทั้งคืน และการหยุดหายใจบางครั้ง อาจยาวนานได้ถึง 10 – 30 วินาที โดยหลายคนมักจะตามด้วยการสำลัก เพื่อเริ่มต้นหายใจใหม่อีกครั้ง อาการเหล่านี้จะทำลายวงจรการนอนหลับ และทำให้พักผ่อนได้ไม่เต็มที่ มีอาการเหนื่อยในระหว่างวันตามมา
ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (OSA) ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไร: ไม่เป็นความจริง
ทุกครั้งที่ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำลายการนอนหลับของคุณ มันส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจ โดยหากไม่ได้รับการแก้ไขหรือดูแลอย่างเหมาะสม ก็อาจส่งผลต่อเนื่องถึงปัญหาที่เกี่ยวกับการทำงาน อุบัติเหตุระหว่างการขับรถ รวมถึงโรคหัวใจล้มเหลวและหลอดเลือดสมองแตก
ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (OSA) เกิดจากการอุดกลั้นทางเดินหายใจ: เป็นความจริง
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่พบบ่อยเกิดจากการที่ลิ้น ทอนซิล หรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ ที่ด้านหลังของลำคอ มาอุดกลั้นทางเดินหายใจ เมื่อคุณพยายามหายใจเข้า อากาศจะไม่สามารถผ่านได้ ในขณะที่ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการสั่งของสมอง (Central Sleep Apnea: CSA) พบได้น้อยกว่า โดยเกิดจากการที่สมองไม่ได้ส่งสัญญาณให้ร่างกาย หายใจอย่างที่ควรจะเป็น
ผู้สูงอายุเท่านั้นที่จะเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (OSA): ไม่เป็นความจริง
แพทย์ประเมินว่าชาวอเมริกันมากกว่า 18 ล้านคน กำลังมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยพบได้ง่ายในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แท้จริงแล้ว ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในคนที่มีน้ำหนักเกิน เพศชาย เชื้อสายแอฟริกันอเมริกันหรือชาวลาติน
แอลกอฮอล์สามารถช่วยเรื่องการนอนหลับ: ไม่เป็นความจริง
คุณอาจจะรู้สึกว่าแอลกอฮอล์ช่วยให้คุณนอนหลับได้ง่ายขึ้น แต่แอลกอฮอล์จะไม่ช่วยให้คุณได้พักผ่อนอย่างมีคุณภาพแบบที่ต้องการ ทั้งนี้แอลกอฮอล์จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณด้านหลังลำคอของคุณคลายตัว ทำให้ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเกิดขึ้นง่ายกว่าเดิม และนอกจากนี้ยานอนหลับยังให้ผลแบบเดียวกันอีกด้วย
ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (OSA) เกิดขึ้นได้ยากในวัยเด็ก: ไม่เป็นจริง
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) พบได้บ่อยในเด็ก โดยมีสัดส่วน 1 ใน 10 ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาการจะไม่ค่อยรุนแรง แต่กับเด็กบางคน อาจเริ่มมีปัญหาด้านพฤติกรรม หรือปัญหาทางการแพทย์ที่ร้ายแรงด้วยผลกระทบจากภาวะนี้
การลดน้ำหนักสามารถช่วยได้: เป็นความจริง
คุณสามารถทำให้ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) มีอาการดีขึ้นได้ เมื่อลดน้ำหนัก ซึ่งถ้าคุณมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ลองปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับโปรแกรมการลดน้ำหนักที่เหมาะสม และการเลิกสูบบุหรี่ ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน
การนอนตะแคงสามารถช่วยได้: เป็นความจริง
หากคุณนอนหงาย จะทำให้แรงโน้มถ่วง ดึงเนื้อเยื่อในลำคอลงไปปิดกั้นทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น การนอนตะแคงจะช่วยเปิดลำคอ ไม่ให้เนื้อเยื่อไปอุดกลั้นทางเดินหายใจ การใช้หมอนข้างสามารถช่วยคุณในการนอนตะแคงได้ และบางคนก็เลือกที่จะเย็บลูกเทนนิสติดไว้ด้านหลังของชุดนอนเพื่อบังคับไม่ไห้นอนหงายโดยไม่รู้ตัว
ยางครอบฟันสามารถช่วยได้: เป็นความจริง
ทันตแพทย์สามารถแนะนำยางครอบฟันที่เหมาะสมกับคุณได้ โดยเครื่องมือนี้จะช่วยลดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่ไม่รุนแรง ซึ่งยางครอบฟันจะถูกออกแบบให้เหมาะสมกับรูปปาก ทำให้มันช่วยจัดโครงสร้างภายในปากให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ใส่มันก่อนนอนเพื่อเปิดทางเดินหายใจของคุณขณะนอนหลับ
วิธีรักษาโดยใช้เครื่องซีแพพ (CPAP) คือการรักษาที่มีประสิทธิภาพ: เป็นความจริง
เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Continuous Positive Airway Pressure-CPAP) จะเป่าอากาศเข้าไปขยายทางเดินหายใจของคุณ โดยคุณสามารถที่จะปรับแรงดันอากาศ ได้จนกว่ามันจะเพียงพอ ที่จะทำให้ทางเดินหายใจของคุณเปิดขึ้นในขณะนอนหลับ เป็นการรักษาที่มักใช้กับผู้ใหญ่ที่มีระดับอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ในขั้นปานกลางถึงรุนแรง
การผ่าตัดเป็นวิธีที่ดี และแน่นอนที่สุดในการแก้ไขภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ: ไม่เป็นจริง
การผ่าตัดจะได้ผล แค่เพียงในบางกรณีเท่านั้น เช่น เด็กที่มีต่อมทอนซิลขนาดใหญ่ มาบล็อกทางเดินหายใจ แพทย์สามารถผ่าตัดเพื่อนำทอนซิลที่ก่อให้เกิดปัญหาออก และมีผู้ใหญ่บางคนที่สามารถผ่าตัดเพื่อลดเนื้อเยื่อ แต่นั่นไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน หากคุณมีอาการนี้อยู่ ควรพูดคุยกับแพทย์ เพื่อชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีข้อเสียของการผ่าตัดให้ถี่ถ้วน ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการผ่าตัดใดๆ
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูล : www.webmd.com
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com