โกศกระดูกได้มาจากไหน มีสรรพคุณอย่างไร
โกศกระดูก เป็นเครื่องยาที่ได้จากรากแห้งของพืชชนิดหนึ่งที่มี ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Saussurealappa Clarke จัดอยู่ในวงศ์ Compositae เมื่อแห้งแล้วมีลักษณะเหมือนกระดูก เป็นพืชเฉพาะถิ่นในที่ชื้นทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ในแคว้นกัษมิระของอินเดีย พืชชนิดนี้เป็นพืชขนาดเล็กอายุหลายปี มีรากคงทนขนาดใหญ่และอาจยาวได้ถึง 60 ซม.
สรรพคุณทางยาแผนโบราณของไทย
โกศกระดูกมีรสขม หวาน มัน ระคนกัน แก้เสมหะ แก้ลม แก้หืด หอบ แก้ลมในกองเสมหะ บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น บำรุงกระดูก
โกศกระดูกเป็นพืชที่มีองค์ประกอบเป็นน้ำมันหอมระเหยง่ายราวร้อยละ 0.3 – 3 ซึ่งมีองค์ประกอบหลักเป็น aplotaxene ราวร้อยละ 20, dihydocostus lactone ราวร้อยละ 15, costic acid ราวร้อยละ 14, costus lactone ราวร้อยละ 10, castol ราวร้อยละ 7 นอกจากนั้น เป็นองค์ประกอบอื่น ๆ อย่างละเล็กอย่างละน้อย มีอินูลิน (Inulin) อยู่ในปริมาณสูง ในราวร้อยละ 18 ของน้ำหนักแห้ง มีอัลคาลอยด์, saussurine และสารอื่น ๆ อีกหลายอย่าง
ในประเทศจีนและอินเดีย ใช้โกศกระดูกบดเป็นผงสูบแทนฝิ่น ผลโกศกระดูกนอกจากจะใช้เป็นเครื่องเทศ ยังนิยมใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ ยาฝาดสมาน เป็นยาหลักสำหรับทำขี้ผึ้งฝาดสมาน เพื่อเรียกเนื้อในแผลเรื้อรังและแผลกลาย
ภาพประกอบจาก: www.thaicrudedrug.com