ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

ไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza/Flu) เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เช่นเดียวกับไข้หวัด (Common cold) แต่เกิดจากเชื้อไวรัสคนละชนิดทำให้มีความรุนแรงแตกต่างกัน โดยไข้หวัดใหญ่จะมีอาการที่รุนแรงมากกว่า พบได้ในคนทุกเพศและทุกวัย พบได้เกือบทั้งปี ส่วนมากในช่วงฤดูฝน การระบาดของเชื้อก่อโรคอาจมีสายพันธุ์ที่แตกต่างกันในแต่ละปี

 

อาการ ไข้หวัดใหญ่

ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการเบื้องต้นคล้ายผู้ป่วยไข้หวัดธรรมดา แต่อาการป่วยไข้หวัดใหญ่จะส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายได้มากกว่า

  • อาการสำคัญที่พบบ่อย
    • ระยะแรก มีไข้สูง ถึงสูงมาก 38 – 41 องศาเซลเซียส อาจมีอยู่ได้ถึง 2 – 3 วัน (ซึ่งต่างจากโรคหวัด ซึ่งมักจะมีเพียงไข้ต่ำ ๆ) ปวดศีรษะมาก ปวดกระบอกตาเวลากลอกลูกตา ปวดกล้ามเนื้อ/ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลียมาก และเบื่ออาหาร
    • ระยะที่สอง มีอาการทางระบบหายใจ ได้แก่ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ในเด็กเล็กอาจได้ยินเสียงหายใจดังครืดคราด อาการมักจะหายหลังผ่านระยะแรกไปได้ 3 – 4 วัน
    • ระยะที่สาม ระยะฟื้นตัว ดังนั้นจะมีอาการอ่อนเพลียอยู่ อาจอยู่ได้นานถึง 2 – 4 สัปดาห์

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ อาจมีอาการทางระบบอาหาร เช่น อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลว

  • เมื่อไร่จึงควรไปพบแพทย์ ผู้ป่วยเด็กเล็กอายุ < 5 ปี หรือผู้ป่วยสูงอายุ > 65 ปี ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคไตวายเรื้อรัง) และสตรีมีครรภ์ เมื่อมีอาการไข้สูงเกิน 39 – 40 องศาเซียลเซียส และไข้ไม่ลดลงหลังรับประทานยาลดไข้ในขนาดที่เหมาะสม มีอาการหายใจหอบเหนื่อย หายใจมีหน้าอกบุ๋ม มีอาการเจ็บหน้าอก หรือมีอาการซึม สับสน แขน/ขาอ่อนแรง ซึ่งอาจเป็นอาการของภาวะแทรกซ้อนได้

 

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (อินฟลูเอนซาไวรัส Influenza virus) เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ A B และ C ซึ่งแต่ละชนิดยังแบ่งเป็นพันธุ์ย่อย ๆ ไปอีกมากมาย เชื้อไข้หวัดใหญ่บางพันธุ์อาจผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำให้เกิดการระบาดใหญ่ในแต่ละปี

  • ไวรัสสายพันธุ์ A มีความรุนแรงและอันตรายมากที่สุด สามารถติดต่อจากสัตว์ (ไก่ นก แมว หมู) มาสู่คน และจากคนที่ติดเชื้อไปสู่คนอื่น ๆ ไวรัสสายพันธุ์ A แบ่งชนิดตามสารโปรตีนที่อยู่บนผิวของไวรัส คือ สาร Hemagglutinin (HA: H1-H16) และสาร Neuraminidase (NA:N1-N9) ทำให้ไวรัสสายพันธุ์ A สามารถแบ่งได้เป็นอีกหลายสายพันธุ์ย่อย ตัวอย่างที่เคยเป็นข่าวดัง ได้แก่ H1N1 (ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009/ไข้หวัดหมู) H5N1 (ไข้หวัดนก)
  • ไวรัสสายพันธุ์ B ก่อโรคในคนและแมวน้ำ แบ่งเป็น 2 ชนิดย่อย คือ B/Yamagata และ B/Victoria มักแพร่ระบาดในฤดูหนาวและฤดูฝน เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal Flu)
  • ไวรัสสายพันธุ์ C ก่อโรคในคนและหมู พบได้น้อย เป็นการติดเชื้อทางระบบหายใจที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยอาจอาการป่วยเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการป่วยเลย

โดยสรุปความแตกต่าง อาการของสายพันธุ์ A จะมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ B และ C เมื่อแพร่ระบาดแล้วจะยากต่อการควบคุม ผู้ป่วยที่ติดไวรัสสายพันธุ์ A จึงต้องระมัดระวังตัวเองไม่ให้ไปแพร่เชื้อต่อผู้อื่น

 

การติดต่อ

ติดต่อโดยการไอ จาม หายใจรดกัน หรือการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งที่ผ่านการหยิบจับเครื่องใช้เปื้อนเชื้อโรค เนื่องจากเชื้อปนเปื้อนกับสารคัดหลั่ง ได้แก่ น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ระยะฟักตัว 1 – 4 วัน สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 2 วันก่อนเกิดอาการถึง 5 วันหลังจากมีอาการ ในเด็กอาจจะแพร่เชื้อได้นาน 10 วัน

 

การวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่

โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่ได้จากการถามประวัติและการตรวจร่างกาย และ ตรวจยืนยันโดยตรวจทางห้องปฏิบัติการ คือการตรวจหาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากสารคัดหลั่งที่ป้ายมาจากโพรงหลังจมูก (nasopharyngeal swab) วิธีที่นิยมในปัจจุบัน ได้แก่ “Rapid influenza diagnostic test” ซึ่งจะทราบผลตรวจภายใน 15 – 30 นาที ราคาถูก แต่ความไวในการจับเชื้อได้นั้นไม่มากนัก และ วิธี “Reverse transcriptase polymerase chain reaction (RT-PCR)” ทราบผลตรวจในเวลา 2 – 4 ชั่วโมง ความไวและความจำเพาะสูง สามารถแยกสายพันธุ์ A และ B ได้ แต่ข้อเสียคือ ราคาแพงกว่า

 

การรักษา

กรณีอาการไม่รุนแรง

การรักษาจะคล้ายกับการรักษาไข้หวัด คือ การประคับประคองตามอาการ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น ไม่สามารถฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสได้ จะใช้เฉพาะกรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะรับประทานเอง จะส่งผลเสียในระยะยาวคือ เชื้อแบคทีเรียดื้อยา ในเบื้องต้นควรดูแลรักษา ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหนัก ๆ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและอาการไข้หวัดรุนแรงขึ้นได้
  • สวมใส่เสื้อผ้าให้เพียงพอ ในการทำให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปกับเหงื่อ การรับประทานอาหาร ช่วงแรก ๆ อาจเป็นอาหารอ่อน ที่ยังเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและฟื้นฟูร่างกายให้กลับสู่ปกติ
  • ใช้ผ้าชุบน้ำอุณหภูมิห้อง เช็ดตัวช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย โดยเช็ดจากล่างขึ้นบน เพราะทิศทางสวนรูขุมขน จะช่วยระบายความร้อนได้มากกว่า เน้นเช็ดบริเวณข้อพับ รักแร้ ข้อศอก ขาหนีบ ข้อเข่า
  • รับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาลดไข้ พาราเซตามอล ไม่ควรรับประทาน แอสไพริน เพราะจะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายได้ มีอาการน้ำมูกมาก ใช้ยาลดน้ำมูก(ยาแก้แพ้)  มีอาการไอ ใช้ยาแก้ไอละลายเสมหะ หรือ ขับเสมหะ อาการเจ็บคอ ใช้ยาอม หรือ สเปรย์พ่นคอ

กรณีอาการรุนแรง

หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง ให้มาพบแพทย์ เพื่อให้พิจารณาให้ยาต้านไวรัสตั้งแต่เริ่มมีอาการ เช่น ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ซานามิเวียร์ (Zanamivir) เพื่อออกฤทธิ์ยับยั้งการกระจายตัวของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A และ B ภายในร่างกาย ใช้ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย และเสี่ยงต่อการติดเชื้อสายพันธุ์ที่รุนแรงขึ้น ทั้งนี้การใช้ยาต้านไวรัสอาจมีผลข้างเคียง ดังนั้น ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ

ได้แก่ หลอดลมฝอยอักเสบ ปอดอักเสบติดเชื้อ (ปอดบวม) สมองอักเสบ เส้นประสาทอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และกลุ่มอาการราย (Reye’s syndrome) ที่พบได้ในผู้ที่รับประทานยาแอสไพริน

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน ไข้หวัดใหญ่

บุคคลทั่วไป

  1. รับประทานอาหารที่ให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว รับประทานผักผลไม้ และอาหารที่เป็นแหล่งวิตามินที่จำเป็นในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอตามความต้องการของแต่ละช่วงวัย
  2. ออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางจิตใจ แนะนำให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิควันละประมาณ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อไข้หวัดใหญ่ โดยควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อของผู้ป่วย หมั่นล้างมือก่อนการรับประทานอาหารหรือสัมผัสบริเวณหน้า เพื่อลดปริมาณเชื้อที่อาจเข้าสู่ร่างกายได้ทางตา ปากและจมูก หากต้องอยู่ใกล้กับผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย (Surgical mask) เพื่อป้องกันการรับเชื้อเข้าร่างกายทางการหายใจ
  4. หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ ไปยังสถานที่แออัด สถานที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคสูง ๆ เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้าในโซนแออัด เป็นต้น
  5. รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) ปีละ 1 ครั้ง จำเป็นต้องให้ทุกปี เพราะมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ตลอดเวลา สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน โดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด โรคปอด โรคหัวใจ โรคอ้วน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ในช่วงฤดูฝนหรือฤดูหนาวหรือช่วงที่มีการระบาด ซึ่งสามารถลดโอกาสในการเกิดไข้หวัดใหญ่ลงได้ 50 – 65% วัคซีนนี้มีข้อห้าม ในผู้ป่วยที่แพ้ไข่ไก่ แพ้ชนิดรุนแรง (anaphylaxis)

ผู้ป่วย

  1. หมั่นล้างมือ หลังการไอ จาม หรือสั่งน้ำมูก และควรสวมหน้าการอนามัยเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น
  2. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังแหล่งชุมชน เนื่องจากลดโอกาสแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
  3. หลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

 

นพ. ฐิติกร เจียงประดิษฐ์
แหล่งที่มา :

  1. Cohen YZ, Dolin R. Influenza. In: Kasper, Dennis L, et al. Harrison’s Principles of Internal Medicine. 19th edition. New York:McGraw Hill Education, 2015. P.1209-1214
  2. นพพร อภิวัฒนากุล. ไข้หวัดใหญ่. ใน: เปรมฤดี ภูมิถาวร, สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์, กาญจนา ตั้งนรารัชชกิจ, สุเทพ วาณิชย์กุล, สุรางค์ เจียมจรรยา, บรรณาธิการ. กุมารเวชศาสตร์สำหรับนักศึกษาแพทย์ เล่มที่ ๒. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ; 2552. หน้า 125-132
  3. Influenza (flu). [Cited 2018 Sep]. Available from: www.mayoclinic.org
  4. Influenza (flu). [Cited 2018 Sep]. Available from: www.cdc.gov/flu

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก