ปวดศีรษะไมเกรน
ปวดศีรษะไมเกรน (Migraines) เป็นอาการปวดศีรษะที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็ง (Tension type headache) มักปวดศีรษะข้างเดียว หรือปวดข้างเดียวก่อนแล้วจึงปวดสองข้าง ในขณะที่ปวดก็มักมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย โดยมีทั้งไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือน (Migraine without aura) ซึ่งพบมากที่สุด และไมเกรนที่มีอาการเตือน (Migraine with aura) อาการนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 – 3 เท่า โดยมักเริ่มมีอาการครั้งแรกในช่วงวัยรุ่นถึงวัยกลางคน
อาการ
อาการที่พบบ่อย
ลักษณะอาการปวดศีรษะที่จำเพาะกับปวดศีรษะไมเกรนคือ อาการปวดศีรษะข้างเดียว มักเป็นทีละข้าง ปวดแบบตุ้บ ๆ คล้ายเส้นเลือดเต้น อาการปวดจะรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก การทำกิจวัตรทั่วไป เช่น การเดินหรือขึ้นบันได จะทำให้อาการปวดศีรษะเป็นมากขึ้น อาการจะดีขึ้นถ้าได้พักผ่อนอยู่นิ่ง ๆ ในห้องที่มืดและเย็น ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม อาการปวดศีรษะจะอยู่นานระหว่าง 4 – 72 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังอาจมีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อแสงและเสียง หน้ามืด เป็นลม
สามารถแบ่งอาการปวดศีรษะไมเกรนได้เป็น 4 ระยะ โดยผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการในทุกระยะได้ดังนี้
- ระยะอาการบอกเหตุ (Prodrome) ในช่วงหนึ่งหรือสองวันแรกก่อนจะเป็นไมเกรน ผู้ป่วยอาจพบอาการบอกเหตุ เช่น อาการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ทั้งอารมณ์เศร้าและสุข อาการอยากอาหารบางอย่างเป็นพิเศษ อาการปวดตึงคอ อาการกระหายน้ำ ปัสสาวะ หาวบ่อย เป็นต้น
- ระยะอาการเตือน (Aura) เป็นอาการที่เกิดจากระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งอาจเกิดขึ้นก่อนหรือพร้อมกับการปวดศีรษะไมเกรน ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเตือนนำ ตัวอย่างของอาการเตือน ได้แก่ ความผิดปกติในการมองเห็น เช่น เห็นแสงกระพริบ เห็นจุดแสงวาบ เห็นวัตถุรูปทรงผิดไป เห็นเป็นเส้นคลื่น หรือความผิดปกติเกี่ยวกับประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว เช่น พูดลำบาก กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชามือชาเท้า เป็นต้น
- ระยะปวดศีรษะ (Headache) อาจพบอาการปวดศีรษะข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง โดยการเคลื่อนไหว การเห็นแสงจ้า เสียงดังหรือกลิ่นฉุนจะกระตุ้นให้ปวดมากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจมีอาการร่วมซึ่งอาจต่อเนื่องกับอาการเตือนหรือไม่ก็ได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่ามัว มองเห็นภาพไม่ชัด เวียนศีรษะ หน้ามืดหรือเป็นลม
- ระยะหลังจากการปวดศีรษะ (Postdrome) เป็นระยะสุดท้ายของไมเกรน ซึ่งจะเกิดหลังจากการปวดแล้ว อาจพบอากาเวียนศีรษะ อารมณ์หงุดหงิด อ่อนเพลีย มีความรู้สึกไวต่อแสงและเสียง
เมื่อไหร่จึงควรไปพบแพทย์
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน หรือเกิดหลังจากได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ
- ปวดศีรษะพร้อมกับมีไข้ ปวดเมื่อยคอ สับสนมึนงง มีอาการชัก มองเห็นภาพซ้อน หรืออ่อนแรง
- มีความรู้สึกชา หรือพูดติดขัดอย่างชัดเจน
- ปวดศีรษะเรื้อรัง ที่เป็นมากขึ้นเวลาไอ /ออกแรงมาก หรือเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถเร็วเกินไป
- ปวดศีรษะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สำหรับผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 50 ปี
สาเหตุ
อาการปวดศีรษะไมเกรน เกิดจากความผิดปกติที่ทำให้สมองถูกกระตุ้นได้ง่ายและไวขึ้น ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าวิ่งไปตามผิวของสมองอย่างช้า ๆ ทำให้เกิดอาการเตือนในผู้ป่วยบางคน กระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนี้ทำให้การไหลเวียนของเลือดในสมองเปลี่ยนแปลง และยังไปกระตุ้นเส้นประสาทสมองให้หลั่งสารสื่อประสาทบางชนิด ส่งผลให้หลอดเลือดสมองเกิดการขยายตัวและเกิดการอักเสบขึ้น ทำให้มีอาการปวดศีรษะในที่สุด โดยถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับการรักษาช้า จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบรับความเจ็บปวดในสมอง ทำให้อาการปวดศีรษะรุนแรงและมีความถี่เพิ่มมากขึ้น อาจไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวด อาจเจ็บที่บริเวณรอบกระบอกตาหรือหนังศีรษะได้
สำหรับสาเหตุที่แท้จริงนั้นไม่แน่ชัด โดยมีตัวกระตุ้นและอาการแสดงที่แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรนบ่อย ๆ จึงควรสังเกตตนเองและคอยจดบันทึกเพื่อเป็นข้อมูลในการไปปรึกษาแพทย์ ตัวอย่างของตัวกระตุ้น ได้แก่
- ตัวกระตุ้นที่เกี่ยวกับอารมณ์ เช่น ความเครียด วิตกกังวล ตกใจ ซึมเศร้า
- ตัวกระตุ้นทางกายภาพ เช่น ความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ออกกำลังกายมาก พักผ่อนไม่เพียงพอ น้ำตาลในเลือดน้อย
- ตัวกระตุ้นเกี่ยวกับอาหาร เช่น รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ขาดน้ำ ดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนประเภท ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง หรืออาหารที่มีสารไทรามีน (Tyramine) เช่น เนยแข็ง อาหารหมักดอง ชีส ไวน์ ช็อกโกแลต ส้ม เป็นต้น
- ตัวกระตุ้นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น แสงสว่างจ้า การสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่ เสียงดัง สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น ความชื้น หรืออุณหภูมิที่เย็นจัด ได้รับกลิ่นที่รุนแรง บรรยากาศที่อบอ้าว
- การใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยานอนหลับ ยาคุมกำเนิด การใช้ฮอร์โมนทดแทนในสตรีวัยหมดประจำเดือน
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในผู้ป่วยเพศหญิง อาจเป็นไมเกรนในช่วงที่มีประจำเดือน (Menstrual Migraine) เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ในขณะที่บางรายเป็นในวัยหลังหมดประจำเดือน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงดังกล่าวอาจกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการสอบถามประวัติ อาการที่เกิดขึ้น ตรวจร่างกายเบื้องต้น ตรวจพิเศษเพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติมในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ตรวจเลือด ตรวจน้ำไขสันหลัง เอกซเรย์ CT สมอง หรือทำ MRI เป็นต้น
การรักษา
ปวดศีรษะไมเกรนเป็นโรคเรื้อรัง สามารถควบคุมได้ด้วยการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง และการใช้ยาอย่างเหมาะสม แนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความถี่ของการปวดศีรษะ การดำเนินของโรค และลักษณะของผู้ป่วย เช่น สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร เด็ก เป็นต้น การรักษาปวดศีรษะไมเกรน สามารถแบ่งได้ 2 ระยะ คือ
- ระยะที่มีอาการปวดศีรษะเฉียบพลัน เบื้องต้นหากปวดยังไม่มากอาจเลือกใช้วิธี นวด กดจุด ประคบร้อน/เย็น หรือนอนหลับเพื่อบรรเทาปวด ในกรณีไม่หายหรือไม่ดีขึ้นควรรับประทานยา ได้แก่
- ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล, ยาลดการอักเสบที่ไม่ไช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นต้น
- ยาบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนโดยตรง เช่น ยากลุ่มทริปแทน (Triptans) และยาเออร์กอต (Ergots) ซึ่งออกฤทธิ์ที่เส้นเลือดสมองโดยตรง การใช้ยาจึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์
- ยากลุ่มทริปแทน เป็นยาบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน และอาการร่วมอื่น ๆ เช่น อาการคลื่นไส้ หรือไวต่อแสงและเสียง ยาในกลุ่มนี้มีหลายชนิด เช่น ยาซูมาทริปแทน (Sumatriptan) ยาซอลมิทริปแทน (Zolmitriptan) ยาอีลีทริปแทน (Eletriptan) ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น อาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะและกล้ามเนื้อล้า โดยไม่แนะนำให้ใช้ยาในคนไข้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจ
- ยาเออร์กอต (Ergot) เป็นยาบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน โดยออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับของเซโรโทนิน (Serotonin) ส่งผลให้หลอดเลือดที่ขยายตัวในช่วงที่มีอาการปวดหดตัวลง จนอาการปวดศีรษะอาจหายไปในที่สุด โดยผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นคือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการปวดศีรษะจากการใช้ยาติดต่อกันนานเกินไป
- ยาสำหรับลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน (Anti-nausea Medications) อาการปวดศีรษะไมเกรน หลายครั้งมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย ยาที่ใช้บรรเทาอาการ ได้แก่ ยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) ยาคลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine).
ทั้งนี้อาจมีการนำยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid Medications) เช่น ยาโคเดอีน (Codeine) มาใช้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยากลุ่มทริปแทนหรือยาเออร์กอตได้ หรืออาจมีการนำยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) เช่น ยาเพรดนิโซน (Prednisone) และเดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) มาใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดในบางกรณี
- ระยะที่ไม่ปวดศีรษะ สามารถเลือกวิธีในการป้องกัน ลดความถี่และความรุนแรงด้วยการออกกำลังกายในระดับความหนักพอเหมาะอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ มีวิธีจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม หากไม่ดีขึ้นในรายที่เป็นบ่อยทุกสัปดาห์ หรือมีอาการรุนแรงมาก แพทย์อาจพิจารณาให้ยาเพื่อป้องกัน โดยจำเป็นต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหลายเดือน ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ กลุ่มยากันชัก เช่น Topiramate, Valproic acid กลุ่มยาปิดกั้นตัวรับแคลเซียม เช่น Flunarizine, Cinnarizine, Verapamil กลุ่มยาปิดกั้นตัวรับเบต้า เช่น Propanolol, Atenolol, Metoprolol และกลุ่มยาต้านอาการซึมเศร้า เช่น Amitriptyline, Nortriptyline, Velafaxine เป็นต้น
ทั้งนี้หากการใช้ยารักษาโรคไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยในบางราย หรือไม่สามารถช่วยป้องกันไมเกรนได้ แพทย์อาจพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ เช่น การฝังเข็ม (Acupuncture) เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการรักษา
นอกเหนือจากผลกระทบจากอาการปวดศีรษะในกรณีที่รุนแรง ซึ่งอาจต้องหยุดเรียน หยุดงานบ่อย ๆ ขาดสมาธิขาดแรงผลักดันในการทำงาน ทำภารกิจให้เต็มที่แล้ว ในการรักษาบางครั้งต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ยังอาจมีผลข้างเคียงจากการรักษาถ้าไม่ดูแลให้ดีพอ เช่น อาการปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป อาการปวดท้อง เลือดออกในกระเพาะอาหาร จากการใช้ยากลุ่ม NSAIDs ในปริมาณมากหรือใช้เป็นเวลานาน เป็นต้น
ข้อแนะนำและการป้องกัน
เนื่องจากปวดศีรษะไมเกรนเกิดได้จากหลายปัจจัย การออกกำลังกายหนักพอเหมาะอย่างสม่ำเสมอ การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงบุหรี่ แอลกอฮอล์ คาเฟอีน การรู้จักวิธีจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสมเป็นเรื่องที่ควรทำเบื้องต้น โดยหากมีอาการแล้ว ควรสังเกตปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ และพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น การจดบันทึกจะช่วยจำแนกตัวกระตุ้นที่อาจเป็นสาเหตุ และช่วยให้สามารถเลือกวิธีรักษาหรือบรรเทาอาการที่เหมาะสมได้
สำหรับสิ่งที่ควรจดบันทึก ได้แก่ วันและเวลาที่เกิดอาการ สัญญาณหรืออาการเตือนต่าง ๆ ก่อนเป็นไมเกรน อาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น ยาที่เคยใช้ เป็นต้น
แหล่งข้อมูล : www.si.mahidol.ac.th www.pobpad.com
ภาพประกอบ : www.freepik.com