ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

ท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis)

ท่อปัสสาวะอักเสบ

ระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นระบบสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับการขับถ่ายของเสียในรูปของของเหลวออกจากร่างกาย เช่น น้ำ ยูเรีย กรดยูริก ครีเอตินีน เม็ดเลือดแดงที่สลายตัว โดยแบ่งอวัยวะในระบบออกเป็น 2 ส่วน ส่วนบนประกอบด้วย ไต (Kidney) กรวยไต (Renal pelvis) และท่อไต (Ureter) และส่วนล่างประกอบด้วย กระเพาะปัสสาวะ (Bladder) และท่อปัสสาวะ (Urethra)

 

โดยท่อปัสสาวะในเพศหญิงจะมีความยาวประมาณ 4 – 5 เซนติเมตร โดยจะอยู่ภายในร่างกายและมีหน้าที่นำปัสสาวะออกสู่ภายนอกอย่างเดียว ส่วนท่อปัสสาวะในเพศชาย มีความยาวประมาณ 18 – 20 เซนติเมตร แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกมีความยาว 2 – 3 เซนติเมตร อยู่ต่อจากกระเพาะปัสสาวะและมีต่อมลูกหมากห่อหุ้มอยู่ ส่วนที่สองมีความยาว 1 – 2 เซนติเมตร อยู่ต่อจากส่วนที่หุ้มด้วยต่อมลูกหมาก ในส่วนนี้จะเป็นส่วนที่บางและแคบถูกหุ้มด้วยกล้ามเนื้อหูรูด ส่วนสุดท้ายมีความยาว 14 – 20 เซนติเมตร และอยู่บริเวณตอนปลายขององคชาติ

ท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis) เป็นภาวะที่เกิดจากการบาดเจ็บหรืออักเสบบริเวณเซลล์เยื่อเมือกบุท่อปัสสาวะ โดยเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน สามารถพบได้ทุกช่วงอายุด้วยกัน ในช่วงวัยเจริญพันธ์มักพบอาการของโรคนี้ร่วมกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายเนื่องจากมีรูเปิดท่อปัสสาวะ (Urethral opening) อยู่ใกล้กับช่องคลอด (Vagina) และทวารหนัก (Anus) จึงมีโอกาสสัมผัสและติดเชื้อได้ง่าย ขณะที่เพศชายมีท่อปัสสาวะที่ยาวและมีต่อมลูกหมากช่วยหลั่งสารต้านเชื้อแบคทีเรีย จึงพบโรคนี้ได้น้อยกว่าในเพศหญิง

 

อาการ 

อาการที่พบบ่อยมีดังนี้

  • ปวด แสบ ขัดเวลาถ่ายปัสสาวะ โดยเฉพาะบริเวณปลายท่อปัสสาวะในเพศชายหรือปากช่องคลอดในเพศหญิง
  • ปัสสาวะบ่อย แต่ครั้งละไม่มาก อาจมีเลือดหรือหนองปน ปัสสาวะอาจขุ่น มีกลิ่นฉุนผิดปกติ
  • อาจมีไข้ ทั้งไข้สูงหรือไข้ต่ำ รู้สึกหนาวสั่น รวมถึงการอ่อนเพลีย อ่อนแรง
  • อาจมีอาการปวดท้องน้อย ปวดอุ้งเชิงกรานในเพศหญิง และปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ทั้งในหญิงและชาย โดยเฉพาะช่วงที่มีการหลั่งอสุจิในเพศชาย
  • นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการตามสรีระร่างกายที่แตกต่างกันในหญิงและชาย
  • เพศหญิง อาจมีอาการบวมแดงที่บริเวณช่องคลอด ปากช่องคลอด ช่องปัสสาวะ มีอาการคันบริเวณอวัยวะเพศ มีตกขาวที่ผิดปกติ อาจมีสีค่อนข้างเขียวและมีกลิ่นเหม็น
  • เพศชาย อาจมีอาการปวดที่ถุงอัณฑะ มีน้ำสีขุ่นออกจากอวัยวะเพศ อาจพบต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณขาหนีบซึ่งอาจมีอาการข้างเดียวหรือทั้งสองข้างได้

อาการที่ควรไปพบแพทย์
ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการท่อปัสสาวะอักเสบตั้งแต่เริ่มแรก โดยเฉพาะในรายที่อาการไม่ดีขึ้นหลังผ่านไปไม่กี่วัน หรือในกรณีที่เคยเป็น รู้วิธีการดูแลตนเองขั้นต้น แต่มีอาการรุนแรงกว่าเดิม เช่น มีเลือดหรือหนองปนมากับปัสสาวะ มีไข้สูง ปวดมาก

 

สาเหตุ 

ท่อปัสสาวะอักเสบเกิดจากสาเหตุสำคัญ 2 สาเหตุ คือ สาเหตุจากการติดเชื้อทั้งจากโรคที่ใช่และไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และสาเหตุที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ

  1. สาเหตุจากการติดเชื้อ พบสูงถึงร้อยละ 80 – 90 โดยเป็นการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งจากการติดเชื้อจากโรคหนองใน (Gonococcal Urethritis) และจากการติดเชื้อที่ไม่ใช่โรคหนองใน (Non Gonococcal Urethritis) เช่น โรคเริม ซิฟิลิส โรคหนองในเทียม โรคเอดส์ เป็นต้น
    .
    สำหรับการติดเชื้อที่ไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้ออีโคไล (Escherichia coli), เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus) หรือเชื้อสูโดโมแนส (Pseudomonas) โดยเชื้อสามารถแพร่ผ่านจากทวารหนัก ผ่านจากกระเพาะปัสสาวะและแพร่ผ่านจากไต
  1. สาเหตุจากการติดเชื้อที่ไม่ใช่จากโรคติดต่อ พบร้อยละ 10 – 20 โดยสามารถเกิดได้จากการระคายเคืองจากสารเคมีต่าง ๆ ที่ใช้ดูแลอวัยวะเพศ เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลจุดซ่อนเร้น การใช้ผ้าอนามัยที่มีน้ำหอม เป็นต้น การสอดเครื่องมือแพทย์เข้าไปในท่อปัสสาวะ เช่น การสอดท่อในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ เป็นต้น การเกิดอุบัติเหตุหรือมีการถูกระแทกอย่างรุนแรง รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์หลาย ๆ ครั้งในระยะเวลาสั้น ๆ โดยมักจะเกิดในเพศหญิง ช่วงของการฮันนีมูน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค
ผู้ที่มีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ชอบเปลี่ยนคู่นอน รักร่วมเพศ ไม่ใช้ถุงยางอนามัยหรือใช้ซ้ำ ชอบใช้อุปกรณ์เสริม มีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้งในระยะเวลาสั้น ๆ เคยเป็นโรคทางเพศสัมพันธ์มาก่อน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องอื่น ๆ เช่น หญิงสูงวัย หญิงตั้งครรภ์ ชายต่อมลูกหมากโต ป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำ ได้รับการกระแทกจากอุบัติเหตุ เป็นต้น

 

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยโดยการซักประวัติ อาการป่วย เช่น อาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วย ระยะเวลาในการเป็นโรค โรคประจำตัว ลักษณะของการมีเพศสัมพันธ์ การขับปัสสาวะและลักษณะของปัสสาวะ ประวัติโรคทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น ร่วมไปกับการตรวจร่างกาย การตรวจภายในของเพศหญิง ในบางกรณีอาจต้องมีการการเพาะเชื้อจากปัสสาวะอีกด้วย ในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคเอดส์อาจมีการตรวจเลือดเพิ่มเติม

 

การรักษา

เนื่องจากสาเหตุของการเกิดโรคส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ การรักษาจึงเป็นการใช้ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อนั้น ๆ หากเป็นสาเหตุอื่นก็จะแก้ที่สาเหตุนั้น ๆ โดยแพทย์อาจรักษาในแบบประคับประคอง เช่น การให้ยาแก้ปวด ซึ่งอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นหากสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคได้รับการแก้ไข

 

ข้อแนะนำในการรักษาโรค

  • ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา และเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนบนและอวัยวะบริเวณใกล้เคียง
  • ควรไปพบแพทย์พร้อมกับคู่นอนหรือสามี โดยหากเป็นเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แพทย์อาจพิจารณาวางแผนการรักษาทั้ง 2 คน เนื่องจากเป็นโรคติดต่อ
  • ควรดื่มน้ำมาก ๆ งดดื่มแอลกอฮอล์ งดการมีเพศสัมพันธ์ ในขณะทำการรักษาเพื่อให้ผลการรักษาที่ดี
  • รับประทานยาและปฏิบัติตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ควรหยุดยาเองแม้ว่าอาการดีขึ้นแล้ว ทั้งนี้เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา

 

ข้อแนะนำในการป้องกัน 

  • ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ถี่ ๆ ในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ไม่ควรใช้อุปกรณ์เสริมที่อาจทำให้เกิดการกระแทก ไม่ควรใช้ร่วมกับผู้อื่นและควรทำความสะอาดอุปกรณ์เสริมทุกครั้งก่อนและหลังการใช้งาน
  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งในขณะมีเพศสัมพันธ์ ไม่ใช้ถุงยางอนามัยซ้ำ
  • ควรดื่มน้ำ และปัสสาวะทั้งก่อนและหลังการมีเพศสัมพันธ์
  • ดูแลอวัยวะเพศไม่ให้อับชื้น เลือกใช้ชุดชั้นในที่ระบายอากาศได้ดี เช่น ชุดชั้นในที่เป็นผ้าฝ้าย และไม่ควรใช้ชุดชั้นในร่วมกับผู้อื่น ไม่ควรใส่ชุดชั้นในนอน
  • เพศหญิงการทำความสะอาดช่องคลอดควรทำจากด้านหน้าไปด้านหลังเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ขณะมีประจำเดือนควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ และควรหลีกเลี่ยงผ้าอนามัยที่มีส่วนผสมของน้ำหอม เพศชายควรรักษาความสะอาดบริเวณปลายท่อปัสสาวะอยู่เสมอ
  • ไม่กลั้นปัสสาวะโดยไม่จำเป็น หรือกลั้นปัสสาวะเป็นระยะเวลานาน

 

แหล่งข้อมูล : www.medthai.com  www.haamor.com  www.pobpad.com
ภาพประกอบ : www.freepik.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก