ยาคุมฉุกเฉิน…เรื่องจริงที่ผู้หญิงต้องรู้
ยาคุมฉุกเฉิน…เรื่องจริงที่ผู้หญิงต้องรู้ มีความเหมือนหรือแตกต่างจากยาคุมกำเนิดแบบปกติอย่างไร อีกทั้งยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีวิธีใช้ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยเป็นเช่นไร หากท่านไม่ทราบ การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินก็จะเหมือนกับการใช้ยาอื่น ๆ คือ
ยาคุมฉุกเฉิน…เรื่องจริงที่ผู้หญิงต้องรู้
คุณผู้อ่านหลายท่านอาจไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่าเป็น ยาคุมกำเนิดประเภทหนึ่ง หลายท่านคงร้อง อ๋อ แต่ช้าก่อน ท่านทราบหรือไม่ว่ายาคุมกำเนิดฉุกเฉิน มีความเหมือน หรือแตกต่างจากยาคุมกำเนิดแบบปกติอย่างไร อีกทั้งยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีวิธีใช้ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยเป็นเช่นไร หากท่านไม่ทราบ การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินก็จะเหมือนกับการใช้ยาอื่น ๆ คือ มีประโยชน์หากใช้ถูกต้อง และก่ออาการข้างเคียง หรืออันตรายหากใช้ไม่ถูก
ยาคุมฉุกเฉิน คืออะไร
มารู้จักยาคุมกำเนิดกันก่อน เดิมเรียกว่า “ยาคุมกำเนิดหลังเพศสัมพันธ์” แต่ต่อมาเพื่อความเข้าใจและการใช้ที่ถูกต้อง จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน” ซึ่งจริง ๆ แล้ว หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า “ยาคุมฉุกเฉิน” แท้จริงแล้วไม่ใช่ยา แต่เป็นฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งสูงกว่ายาคุมกำเนิดโดยทั่วไปถึง 2 เท่า และมี 2 ชนิด คือ
1. ยาคุมฉุกเฉินที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว
มีชื่อทางการค้าว่า โพสตินอร์ จะมีส่วนประกอบหลักเพียงอย่างเดียว คือ ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ขนาดเม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม โดยลีโวนอร์เจสเตรลนี้จัดเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์กลุ่มเดียวกับฮอร์โมนโปรเจสโตเจน (Progestogen) มีฤทธิ์ในการยับยั้งการตกไข่ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีความหนาขึ้น และยากต่อการฝังตัวของไข่ นอกจากนี้ ยังทำให้บริเวณปากมดลูกมีสารคัดหลั่งที่มีลักษณะเหนียวข้นออกมา จึงทำให้ตัวอสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้ยากขึ้น
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้บ่อย คือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน คัดเต้านม และระดูมาผิดปกติ โดยอาจมาเร็วขึ้น หรือช้าก็ได้ บางครั้งอาจพบเลือดออกกะปริบกะปรอย ดังนั้น ถ้าขาดระดู หรือระดูมากะปริดกะปรอยหลังใช้ยานี้ จำเป็นจะต้องตรวจให้ทราบว่าเป็นการตั้งครรภ์ หรือเป็นผลของยา ในกรณีที่ป้องกันไม่ได้ ยังมีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูกสูงกว่าปกติอีกด้วย
2. ยาคุมฉุกเฉินแบบฮอร์โมนรวม
หรือที่เรียกว่า Yuzpe regimen เป็นการใช้ฮอร์โมน ethinyl estradiol 0.1 มิลลิกรัม และ Levonorgestrel ขนาด 0.5 มิลลิกรัม โดยยาจะไปขัดขวางการปฏิสนธิของสเปิร์มและไข่ ยับยั้งการตกไข่ หรืออาจมีผลต่อการทำงานของคอร์ปัสลูเตียมก็ได้ ทั้งนี้ วิธีนี้เป็นที่นิยมในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป แต่มีข้อเสีย คือ มีผลข้างเคียงมากกว่าแบบแรก
การกินยาคุมฉุกเฉิน อย่างไรถูกต้อง
ตามคำแนะนำบอกไว้ว่า การรับประทานยาคุมฉุกเฉินต้องกิน 2 ครั้ง โดยเม็ดแรกต้องกินภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ จากนั้นอีก 12 ชั่วโมงจึงรับประทานยาเม็ดที่ 2 แต่ถ้าหลังจากทานยาเข้าไปแล้วไม่ว่าครั้งแรก หรือครั้งหลังแล้วเกิดการอาเจียนภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมง จะต้องทานยานั้นอีกครั้ง
ทั้งนี้ วิธีการรับประทานยาข้างต้นก็เป็นวิธีการที่ถูกต้องค่ะ แต่จริง ๆ แล้ว ทางกรมอนามัย ยังได้แนะนำวิธีการกินยาคุมฉุกเฉินอีกหนึ่งวิธี ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้กัน ก็คือ ให้รับประทานทั้ง 2 เม็ดพร้อมกันเลยใน 5 วันหลังจากมีเพศสัมพันธ์ได้เลย ซึ่งวิธีดังกล่าวได้รับการยอมรับในหลายประเทศ รวมทั้งองค์การอาหารและยาของสหรัฐ ว่าใช้ได้ผล และเป็นการป้องกันการลืมกินยาเม็ดที่ 2 ได้ดี แต่ในประเทศไทยยังรับรู้เรื่องนี้น้อยมาก
ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินเทียบเท่ายาคุมแบบปกติไหม
ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินย่อมไม่เทียบเท่ายาคุมกำเนิดปกติแน่นอน สำหรับยาคุมฉุกเฉินนั้นมีประสิทธิภาพการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ราวร้อยละ 58 – 95 ซึ่งขึ้นอยู่กับการใช้ที่ถูกวิธีและระยะเวลาที่เริ่มใช้ด้วย แต่ยังไม่พบว่า การกินยามากกว่าขนาดที่กำหนดจะทำให้ประโยชน์มากขึ้นหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ คือจะมีผลข้างเคียงมากขึ้น
ทั้งนี้ หากคุณรับประทานยาคุมฉุกเฉินเม็ดแรกภายใน 72 หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์แล้วตามด้วยยาเม็ดที่สอง จะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ 75% แต่หากรับประทานยาเม็ดแรกเข้าไปไม่เกิน 24 ชั่วโมง ประสิทธิภาพในการป้องกันก็จะเพิ่มขึ้นอีกถึง 10% ดังนั้น หากต้องการผลที่ชัดเจนและแน่นอนที่สุด ก็ควรจะรีบทานยาเม็ดแรกให้เร็วที่สุดนั่นเอง
ยาคุมฉุกเฉิน มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง
แน่นอนว่า การใช้ยาคุมฉุกเฉินย่อมสร้างปัญหาบางอย่างให้กับคุณผู้หญิงแน่นอน เบาะ ๆ ก็คือ จะทำให้ประจำเดือนผิดปกติ มาช้า หรือมาแบบกะปริบกะปรอย และอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน แต่หากใช้บ่อยและต่อเนื่อง ก็มีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูกได้เลยทีเดียว
นอกจากนั้นแล้ว จากข้อมูลจากแพทย์ระบุว่าในชีวิตไม่ควรจะใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเกิน 2 ครั้ง เพราะจะมีผลกับร่างกายของผู้หญิง เช่น กระตุ้นเซลล์มะเร็ง หรือกระทบต่อรังไข่ มดลูก และร่างกายทั่วไป ซึ่งจะส่งผลทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉิน
สำหรับในประเทศไทย การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีความสะดวกในการซื้อการพกพา วิธีการกินไม่ยุ่งยากเหมือนยาคุมกำเนิดทั่วไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แพทย์ก็ได้เตือนสาว ๆ ที่มักนิยมใช้ยาคุมฉุกเฉินว่า ยาดังกล่าวจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันโรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไวรัสตับอักเสบบี ฯลฯ ได้อย่างที่เข้าใจกัน
สำหรับคนที่เข้าใจว่ายาคุมฉุกเฉินทำให้แท้งได้ ข้อนี้ก็เป็นความเชื่อที่ผิดเช่นกัน เพราะจริง ๆ แล้วยาคุมฉุกเฉินเพียงแค่ป้องกันการตั้งครรภ์เท่านั้น แต่จะต้องรับยาเข้าไปก่อนที่ไข่จะฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก ดังนั้น ความเข้าใจที่ว่ายาคุมฉุกเฉินเป็นยาทำแท้งนั้นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
นอกจากนั้นแล้ว ที่น่าเป็นห่วงก็คือ มีข้อมูลที่ระบุว่า ในประเทศไทยมีคนใช้ยาคุมฉุกเฉินราว ๆ ปีละ 8 ล้านแผง ขณะที่บางคนรับประทานยาคุมฉุกเฉินถึง 20 แผงต่อเดือน โดยคิดว่า ยาคุมฉุกเฉินสามารถรับประทานได้เรื่อย ๆ เหมือนกับยาคุมกำเนิดแบบปกติ แต่หากทานมากขนาดนั้นอันตรายถามหาแน่นอน
ยาคุมฉุกเฉินเป็นยาที่ผลิตคิดค้นออกมาเพื่อใช้เฉพาะในเหตุการณ์ฉุกเฉินและจำเป็นเท่านั้น โดยจะเกิดผลดีหากใช้ในทางที่ถูกต้อง ในผู้ที่มีการวางแผนที่จะมีเพศสัมพันธ์ และยังไม่ต้องการมีบุตร สามารถเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น ที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อผู้ใช้มากกว่า เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบที่รับประทานติดต่อกันทุกวัน การใช้ถุงยางอนามัย การใส่ห่วงอนามัย การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะเป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th.(2010).ยาคุมฉุกเฉิน…เรื่องจริงที่ผู้หญิงต้องรู้.22 มิถุนายน 2558.
แหล่งที่มา: www.pharmacy.mahidol.ac.th
ภาพประกอบจาก: www.ppat.or.th