ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

ยาเสียสาว เสียหนุ่ม มีจริงไหม ป้องกันอย่างไร

ยาเสียสาว เสียหนุ่ม มีจริงไหม ป้องกันอย่างไร

จากข่าวการเสียชีวิตของพริตตี้ หลังจากไปร่วมนั่งดื่มกับลูกค้า โดยพบว่าในงานมียาเม็ดในถุงซิปวางอยู่ เข้าใจว่าเป็นยาที่ถูกนำมาใช้กระตุ้นฮอร์โมนสำหรับคนที่เล่นกล้าม ขณะเดียวกันยาดังกล่าวยังใช้ในทางการแพทย์ โดยมีฤทธิ์เป็นยาสลบ ยานอนหลับด้วย

 

ยาเสียสาว เสียหนุ่ม มีจริงไหม

หากคีย์คำว่า “ขายยามอมสาว” หรือ “ขายยาเสียสาว” ในอินเตอร์เน็ต จะเห็นโฆษณาขาย มีชื่อเรียกกันหลากหลาย ที่เห็นกันเยอะ ๆ เช่น ทิงเจอร์ขาว แมลงวันสเปน หรือบางเว็บจะเรียกตรง ๆ ว่ายาเสียสาว ยามอมสาว โดยยากลุ่มนี้ มีฤทธิ์ทำให้มึน งง ง่วง บางชนิดอาจถึงขั้นหมดสติ จำอะไรไม่ได้

ทั้งนี้มียาสำหรับใช้ในทางการแพทย์ และหากนำมาใช้ผิด มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการมึน งง ถึงขั้นหมดสติได้ เช่น ยามิดาโซแลม (Midazolam) หรือชื่อการค้า โดมิคุม (Dormicum) ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) ยาฟลูไนตราซีแปม (Flunitrazepam) หรือชื่อการค้า โรฮิบนอล (Rohypnol) สารจีเอชบี (GHB = gamma-hydroxybutyrate) ยาเค หรือ เคตามีน (ketamine) ที่พบได้ในปัจจุบันมักจะเป็นยาอัลปราโซแลม และสารจีเอชบี โดยรายละเอียดเบื้องต้น ดังนี้

  • ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) ในทางการแพทย์ใช้รักษาอาการวิตกกังวล สงบระงับ ช่วยให้นอนหลับ นอกจากนี้ยังช่วยคลายกล้ามเนื้อ ต้านอาการชัก แต่อาจทำให้สูญเสียความทรงจำชั่วขณะ ความสามารถในการเรียนรู้ และความจำลดลง
  • สารจีเอชบี หรือ GHB (gamma-Hydroxybutyric) เคยใช้เป็นยาสลบ ยานอนหลับและยารักษาภาวะง่วงหลับ ช่วยในการคลอด และรักษาผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง (ขึ้นอยู่กับขนาดของยาที่ใช้) อย่างไรก็ตามด้วยผลข้างเคียงและการใช้ในทางที่ผิดมากขึ้น ยาตัวนี้ได้ถูกถอนออกจากบัญชียาตั้งแต่ปี 2533 ปัจจุบันจัดอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 โดยเป็นยาเสพติดที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง ผู้เสพ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี – 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท – 100,000 บาท (มาตรา 106 ตรี) ผู้ผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท – 400,000 บาท (มาตรา 89)

ทั้งนี้พบว่ามีการนำ GHB มาใช้ในการเพิ่มกล้ามเนื้อสำหรับผู้เล่นกล้าม และสร้างความสนุกในหมู่นักเที่ยวกลางคืน โดยพบในรูปของเกลือโซเดียม แบบผง เม็ดและสารละลายที่ละลายในน้ำ มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี มีรสเค็ม ง่ายต่อการนำไปผสมกับเครื่องดื่มต่าง ๆ ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า มักจะรู้จักกันในชื่อ Liquid ecstacy, Liquid E, Liquid X หรือ Blue Verve

โดยการกินยาหรือเสพสารข้างต้น จะมีอาการมึนงง รู้สึกง่วง และจากการที่ออกฤทธิ์เร็ว ภายใน 30 นาที อาจทำให้สะลึมสะลือแล้วหลับไป เมื่อตื่นขึ้นมาก็จำอะไรไม่ได้ หลายๆครั้งจึงพบผู้ที่ไปโดนยามา ให้การกับตำรวจไม่ได้  เพราะความจำช่วงก่อนหน้าที่กินมาหายไป คล้ายคนเมาเหล้าที่บางทีจะจำไม่ได้

สำหรับสาร GHB นี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะออกฤทธิ์ในระยะเวลาประมาณ 10 – 20 นาที และออกฤทธิ์นานกว่า 4 ชั่วโมง ผลข้างเคียงในระยะสั้น จะทำให้เกิดอาการมึนงง วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ความจำเสื่อมชั่วขณะ ซึมเศร้า มีอารมณ์ทางเพศ มีปัญหาทางด้านการมองเห็น หากเสพอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจะพบอาการนอนไม่หลับ มีปัญหาเกี่ยวกับความทรงจำ เกิดภาวะซึมเศร้า มีปัญหาทางจิต และมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ  โดยการเสพ GHB ในปริมาณมากหรือเสพร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่น ๆ หรือร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลให้เกิดภาวะการใช้ยาเกินขนาด ทำให้เกิดอาการหลงลืม รู้สึกสับสน หัวใจและปอดทำงานช้าลง ความดันโลหิตต่ำ มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ และอาจรุนแรงถึงขั้น ชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้ในที่สุด และในการขับขี่ยานพาหนะ GHB จะทำให้เกิดอาการง่วงซึมและขาดสมาธิในการขับรถทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

 

จะป้องกันตัวอย่างไร

มองในแง่พฤติกรรม หากผู้ประสงค์ร้ายต้องการจะมอมยาใครสักคน คงต้องเลือกสถานที่ บรรยากาศที่เอื้อในการทำเรื่องดังกล่าว ดังนั้นแนวทางการป้องกันจึงเหมือนไม่ยาก แต่สาวหรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะต้องตระหนักถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นและหาทางป้องกัน ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการไปเที่ยว ไปงานปาร์ตี้ โดยเฉพาะงานที่จัดกลางคืนเพียงลำพัง ในกรณีต้องไปควรมีคนรู้จักหรือคนที่ไว้ใจไปด้วย
  2. อย่าไว้ใจคนแปลกหน้าที่เข้ามาตีสนิท โดยเฉพาะการไม่ดื่มเครื่องดื่ม อาหารต่าง ๆ ยา ที่คนแปลกหน้าหยิบยื่นให้
  3. ถ้าเป็นไปได้เข้าห้องน้ำควรมีเพื่อนไป อย่าคลาดสายตากัน ถ้าทำได้ดื่มเครื่องดื่มในแก้วให้หมดก่อนไป เพื่อที่กลับมาแล้วเปลี่ยนแก้วใหม่ ถ้ายังไม่หมดควรบอกเพื่อนไว้อย่าให้ใครมาเติมเพิ่ม
  4. สำหรับการดื่มนั้น แนะนำให้จิบช้า ๆ หรือดื่มทีละน้อย เพราะหากมีการใส่ยาจะได้ออกฤทธิ์ไม่มาก
  5. กรณีที่มีรสชาติ เช่น ขม เค็ม หรือมีกลิ่นแปลก ๆ ควรหยุดดื่มทันที
  6. ควรรู้ระดับการทนต่อแอลกอฮอล์ของตนเอง เช่น ผสมดื่มทนได้ 3 แก้ว เป็นต้น ทั้งนี้เป้าหมายเบื้องต้น ไม่ควรให้เกินจำนวนดังกล่าว โดยหากรู้สึกผิดปกติ เช่น เวียนหัว ง่วง มึนงง ควรบอกกับเพื่อนที่ไว้ใจและหยุดดื่มทันที
  7. พกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา ตั้งเบอร์โทรฉุกเฉิน เป็นเบอร์โทรของเพื่อน พ่อแม่ คนไว้ใจ นัดแนะล่วงหน้า หากเกิดอะไรขึ้นกดหาพร้อมแชร์โลเคชั่นทันที

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com
ข้อมูลอ้างอิง

  1. บทสัมภาษณ์นพ.ภาสกร ชัยวาณิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์. tna.mcot.net
  2. บทสัมภาษณ์นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี. tna.mcot.net
  3. บทสัมภาษณ์ภก.วชิระ อำพนธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.). news.mthai.com
  4. สาระสุขภาพยาน่ารู้ โดยเภสัชกรอุทัย

 

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก