ตะคริว การดูแลและการป้องกัน
การรักษาอาการตะคริว
โดยปกติ ผู้ที่เป็นตะคริวสามารถรักษาอาการได้ด้วยตัวเอง เช่น การประคบร้อนเพื่อบรรเทาอาการตะคริว ประคบเย็นเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดบริเวณกล้ามเนื้อที่เกิดอาการ ทั้งนี้เมื่อหายจากการเป็นตะคริวแล้วสามารถกินยาแก้ปวด หรือทายานวดเพื่อบรรเทาอาการปวดได้
นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นตะคริวสามารถรักษาอาการเบื้องต้นได้ด้วยการบริหารร่างกาย หลัก ๆ คือ การยืดเส้นหรือการนวดที่กล้ามเนื้อบริเวณที่เกิดตะคริว เช่น ถ้าเป็นตะคริวที่น่อง ให้ทำการเหยียดเท้าไปด้านหน้า ดึงปลายเท้ากระดกเข้าหาหัวเข่า หรือยืนห่างจากกำแพง 1 เมตร โน้มตัวใช้แขนยันกำแพง โดยวางฝ่าเท้าด้านที่เป็นตะคริวราบไปกับพื้น ถ้าเป็นตะคริวที่ต้นขาด้านหน้า ให้นั่งคุกเข่า หรือนอนคว่ำ พับขาข้างที่เป็นมาด้านหลังให้เต็มที่ ถ้าเป็นตะคริวต้นขาด้านหลัง ให้นั่งเหยียดขาทั้งสองข้าง แล้วโน้มตัวมาข้างหน้า เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในรายที่มีอาการตะคริวบ่อย หรือเกิดผลข้างเคียงจากการเป็นตะคริว เช่น ขาบวมแดง ผิวหนังเกิดความเปลี่ยนแปลง กล้ามเนื้ออ่อนแรง มือเท้าจีบเกร็ง หรือเกิดจากสาเหตุที่เกี่ยวกับโรคประจำตัว หรือยาที่ใช้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาทันที
การป้องกันการเป็นตะคริว
โดยหลักการคือ การหลีกเลี่ยงสาเหตุที่เป็นไปได้ในการเกิดตะคริว ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยหลักการได้แก่
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีเกลือแร่ ออกกำลังกายที่มีความหนักพอเหมาะอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือใช้กล้ามเนื้อที่หนักหรือนานเกินกำลัง เช่น วิ่งระยะไกล เล่นกีฬาต่อเนื่องหลายชั่วโมง การยกของหนัก โดยกรณีที่ต้องออกกำลังกาย ควรทำการยืดกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลัง และควรมีการฝึกการออกกำลังกายจากเบาไปหนักอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเกิดความคุ้นชิน
- หลีกเลี่ยงการนั่ง นอน หรือเดินเป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุควรค่อย ๆ ขยับแขนขาช้า ๆ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นมาก ๆ
- ป้องกันภาวะขาดน้ำด้วยการดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และควรดื่มน้ำก่อนการออกกำลังกาย เพื่อให้เพียงพอกับปริมาณน้ำที่อาจเสียไป ในระหว่างออกกำลังกาย
- ดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ก่อนและระหว่างการออกกำลังกายหรือทำงานในที่ที่มีอากาศร้อนหรือมีเหงื่อออกมาก เพื่อรักษาสมดุลของเกลือแร่
- สวมใส่เสื้อผ้า อุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะรองเท้าในขนาดที่พอเหมาะกับร่างกาย ไม่รัดจนเกิดอุปสรรคในการไหลเวียนของเลือด โดยเฉพาะในขณะออกกำลังกาย
- ควรสังเกตกิจกรรมต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดตะคริว แล้วหลีกเลี่ยงเสีย
- ผู้ที่เป็นตะคริวตอนกลางคืน ควรนอนยกขาให้สูงเล็กน้อยประมาณ 10 เซนติเมตร โดยใช้หมอนรอง ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในตอนกลางคืน และก่อนนอนควรบริหารยืดกล้ามเนื้อหรือปฏิบัติตามแพทย์สั่ง
- ฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Stretching) ในบริเวณที่มักเป็นตะคริวอยู่บ่อย ๆ อาจช่วยลดโอกาสการเกิดตะคริวได้ เพราะตะคริวมักเกิดกับกล้ามเนื้อน่องและต้นขา ทั้งนี้โดยพื้นฐานการฝึกยืดกล้ามเนื้อควรทำอย่างน้อยวันละ 1 – 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 3 – 5 นาที และในครั้งสุดท้ายของวันควรทำก่อนเข้านอน เพื่อช่วยลดโอกาสเป็นตะคริวในตอนกลางคืน แต่ก่อนทำการยืดกล้ามเนื้อควรทำการอบอุ่นร่างกายทุกครั้งด้วยการเดินเบา ๆ ประมาณ 5 นาที และเมื่ออาการตะคริวห่างหายไปแล้ว ก็สามารถลดการทำเหลือเพียงวันละ 1 ครั้งก่อนเข้านอนก็ได้ แต่ยังควรทำอย่างต่อเนื่องทุกวันตลอดไป
- ในรายที่มีสาเหตุมาจากโรค ต้องรักษาหรือควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ โดยเข้ารับการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นก็จะเกิดตะคริวบ่อย ๆ
เรียบเรียงข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com
ข้อมูลจาก :
- ตะคริว (ออนไลน์). สืบค้นจาก www.pobpad.com (27 ส.ค. 2562)
- ตะคริว อาการ สาเหตุและวิธีแก้ (ออนไลน์) สืบค้นจาก www.medthai.com (27 ส.ค. 2562)