“ฮอร์โมนของคุณ” สมดุลดีหรือเปล่า
สำหรับคุณผู้หญิง หากคุณรู้สึกใจลอย หงุดหงิด หรือไม่สบายใจบ่อย ๆ แล้วละก็ อย่ารีบตัดเรื่องของฮอร์โมนออกไป เพราะฮอร์โมนในร่างกายของผู้หญิงจะขึ้น ๆ ลง ๆ ตลอด และสามารถเกิดภาวะฮอร์โมนแปรปรวน ขาดความสมดุล ซึ่งแสดงออกให้เจ้าตัวรับรู้ได้ในหลาย ๆ อาการ ดังนี้
ประจำเดือนมาไม่ปกติ
ประจำเดือนของผู้หญิงจะมาทุก ๆ 21 ถึง 35 วัน แต่ถ้าคลาดเคลื่อนหรือไม่มา นั่นอาจหมายความว่า ฮอร์โมนคุณผิดปกติ เกิดความไม่สมดุล โดยอาจมีฮอร์โมนบางอย่างมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ประจำเดือนที่มาไม่ปกติอาจกลายเป็นปัญหาสุขภาพ ได้ ดังนั้นจึงควรรีบปรึกษาแพทย์ในทันที
ปัญหาการนอน
หากนอนไม่หลับ หลับไม่สบาย หลับไม่สนิท นั่นอาจเป็นเพราะฮอร์โมน ปกติแล้วโปรเจสเตอโรน เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้นอนหลับได้อย่างปกติสุข แต่ถ้าวันไหนฮอร์โมนตัวนี้ลดน้อยลง เมื่อนั้นคุณก็จะไม่มีโอกาสหัวถึงหมอนได้อย่างสบาย ส่วนถ้าฮอร์โมนเอสโตรเจน ในร่างกายต่ำจนเกินไป อาจทำให้รู้สึกวูบวาบ ตื่นกลางดึก เหงื่อออกขณะหลับได้ ดังนั้นปัญหาหลักอามาจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนสองตัวนี้
เป็นสิวเรื้อรัง
ปกติแล้วสิวมักจะมีในช่วงมีประจำเดือน แต่ถ้าพ้นช่วงนั้นแล้ว สิวยังไม่หาย อาจเป็นอาการของฮอร์โมนไม่ปกติ ฮอร์โมนตัวนี้มีชื่อว่า เอนโดรเจน เป็นฮอร์โมนเพศชายที่พบได้ทั้งในชายและหญิง โดยจะทำให้ต่อมไขมันใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันออกมามากมาย จนเข้าไปอุดตันในรูขุมขน และทำให้เกิดสิวได้ในที่สุด
ความจำเลอะเลือน
การแปรปรวนของฮอร์โมนเอสโตเจนและโปรเจสเตอโรน สามารถทำให้สมองเลอะเลือน จำอะไรไม่ค่อยได้ เพราะฮอร์โมนเอสโตเจนส่งผลกระทบต่อสารเคมีในสมองที่เป็นสารสื่อประสาท (Neurotransmitters) ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสมาธิและความจำ โดยเฉพาะในช่วงใกล้ๆรวมถึงช่วงหมดประจำเดือน อย่างไรก็ตามอาการดังกล่าวอาจมาจากสาเหตุอื่นๆได้ด้วย
อาการปวดท้อง
ท้องคนเรานั้นประกอบไปด้วยเซลล์ที่เป็นตัวรับ โดยจะมีปฏิกิริยากับฮอร์โมนเอสโตเจนและโปรเจสเตอโรนเมื่อฮอร์โมนไม่สมดุล จะส่งผลทำให้การย่อยอาหารผิดปกติ เกิดท้องร่วง ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ ซึ่งหากเจอปัญหาการย่อยอาหาร ร่วมกับปัญหาสิวและอ่อนเพลียด้วยแล้ว เป็นไปได้ว่าระดับฮอร์โมนในร่างกายคุณกำลังแปรปรวน
อ่อนเพลียทั้งวัน
หากคุณอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา เป็นไปได้ว่าฮอร์โมนไม่สมดุล โดยหากคุณมีโปรเจสเตอโรนมากเกิน จะทำให้ง่วงนอน และหากฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์น้อยเกิน ก็จะทำให้คุณอ่อนเพลีย ซึมเศร้า น้ำหนักเพิ่ม หากจำเป็น การตรวจเลือดดูระดับของฮอร์โมน จะทำให้รู้สาเหตุได้ดีขึ้น
อารมณ์แปรปรวนและซึมเศร้า
หากฮอร์โมนต่ำลง หรือเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ ทำให้อารมณ์แปรปรวน และเกิดอาการซึมเศร้า จากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง เช่น เอสโตเจนส่งผลต่อเซโรโทนิน (Serotonin) โดพามีน (Dopamine) และนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ซึ่งเป็นสารเคมีในสมอง
อยากอาหารและน้ำหนักขึ้น
หากคุณซึมเศร้าหรือหงุดหงิดใจจากฮอร์โมนเอสโตเจนต่ำลงแล้ว คุณอาจอยากกินอาหาร จนไม่สามารถหยุด ทำให้น้ำหนักขึ้นได้ ทั้งนี้หากมีเอสโตรเจนน้อย จะส่งผลต่อฮอร์โมนเลปติน ซึ่งช่วยควบคุมความอยากอาหาร ร่างกายจึงอยากกินอาหารมากขึ้น
อาการปวดหัว
มีหลายสาเหตุที่ทำให้ปวดหัว โดยหากฮอร์โมนเอสโตเจนต่ำ ก็สามารถทำให้ปวดหัวได้ สังเกตง่ายๆว่าถ้าปวดหัวช่วงเดิมๆทุกๆเดือน เช่น ช่วงก่อนหรือขณะมีประจำเดือน ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า เป็นเพราะฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงนั่นเอง
อวัยวะเพศแห้ง/ระคายเคืองผิดปกติ
ถ้าคุณรู้สึกว่าตรงนั้น แห้งหรือระคายเคือง หนึ่งในสาเหตุเกิดจากฮอร์โมนเอสโตเจนต่ำ เพราะเอสโตรเจนช่วยทำให้เนื้อเยื่อบริเวณช่องคลอดคงความชุ่มชื้นและไม่ระคายเคือง
อารมณ์ทางเพศลดลง
หากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนน้อยลง แน่นอนว่าความสนใจทางเพศของคุณในช่วงนั้น ๆ จะน้อยลง คงต้องมองหาสาเหตุเพื่อทำการแก้ไขกันต่อไป
ขนาดหน้าอกเปลี่ยน
ฮอร์โมนเอสโตเจนที่น้อยทำให้เนื้อเยื่อบริเวณเต้านมมีน้อย ในทางกลับกันเอสโตรเจนที่มาก จะทำให้เต้านมแน่นขึ้น แต่อาจจะทำให้เกิดเป็นก้อนซีสขึ้นได้ ดังนั้นหากมีปัญหาเรื่องขนาดเต้านมเปลี่ยนแปลง ควรปรึกษาแพทย์ทันที ถึงแม้จะไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยก็ตาม
ฮอร์โมนในร่างกายไม่ปกติ อาจทำให้คุณรู้สึกไม่สบายกาย ไม่สบายใจได้ แต่คุณหากเปลี่ยนเรื่องดังกล่าวให้เป็นพลัง ในการลุกขึ้นมาออกกำลังกายเรียกเหงื่อ เรียกฮอร์โมนเอ็นโดฟินหรือสารแห่งความสุข ขึ้นมาชดเชยได้แล้ว คุณก็จะมีสติและสามารถผ่านเรื่องราวไปได้
เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูล: www.webmd.com
ภาพประกอบ: www.pexels.com