5 สิ่งที่คุณอาจจะไม่รู้ เกี่ยวกับการมีประจำเดือน
ทั้ง ๆ ที่คุณผู้หญิงโดยทั่วไปจะต้องอยู่กับประจำเดือน (Period) ถึง 450 รอบตลอดช่วงชีวิตเลยทีเดียว แต่ยังมีความลับ ที่มาที่ไป และเหตุผลของบางสิ่งบางอย่าง ที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงการมีประจำเดือน เรามาใช้เวลาที่มีค่าเรียนรู้กันเลย
1. รู้หรือไม่ คุณสามารถตั้งครรภ์ได้ระหว่างที่คุณกำลังมีประจำเดือน
การมีประจำเดือน ไม่ได้ป้องกันคุณจากการตั้งครรภ์ได้เลย เพราะผู้หญิงบางคนอาจมีเลือดออกในช่วงการตกไข่ (Ovulation) และเข้าใจผิดว่านั้น คือ ประจำเดือน (Period) ช่วงเวลาตกไข่เป็นช่วงที่พร้อมมากสำหรับการปฏิสนธิ ดังนั้น หากคุณมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาดังกล่าว จึงมีโอกาสสูงในการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ อสุจิยังอยู่ในร่างกายคุณได้ 3 วัน ดังนั้น การใช้ถุงยางอนามัยจึงเป็นสิ่งจำเป็น
2. รู้หรือไม่ การมีประจำเดือนระหว่างใช้ยาอาจจะไม่ใช่ประจำเดือนจริง ๆ
โดยปกติร่างกายจะมีการตกไข่ (Ovulation) ในช่วงกลางของประจำเดือน ซึ่งถ้าไข่ที่อยู่ในรังไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิ (Fertilization) ฮอร์โมนของคุณจะลดลง ทำให้เยื่อบุมดลูกเกิดการหลุดลอก และถูกขับออกมาเป็นประจำเดือน
การใช้ยาคุมกำเนิดจะเป็นการที่คุณได้รับฮอร์โมนเป็นเวลาประมาณ 3 อาทิตย์ และเว้นฮอร์โมนเป็นเวลา 1 อาทิตย์ แม้ว่ายาคุมกำเนิดจะทำให้คุณไม่มีการตกไข่ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ร่างกายของคุณหยุดสร้างเยื่อบุผนังมดลูก เพราะฉะนั้น การมีเลือดออกในสัปดาห์ที่ 4 ของการกินยาคุมกำเนิด จึงไม่ใช่ประจำเดือน แต่เป็นเพียงปฏิกิริยาของร่างกายเมื่อขาดฮอร์โมนเท่านั้น
3. รู้หรือไม่ รอบประจำเดือนของคุณจะเปลี่ยนไปตลอดชีวิต
ประจำเดือนที่มาสม่ำเสมอเป็นเรื่องดี แต่ในบางครั้งการที่รอบประจำเดือนมาเร็วไป หรือช้าไปบ้าง อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ โดยเป็นเพียงผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ที่จะเกิดขึ้นตลอดชีวิตของคุณเท่านั้น
ในช่วงแรกของการมีประจำเดือน รอบอาจจะยาวนานได้ถึง 21 – 45 วัน ก่อนการมีประจำเดือนครั้งถัดไป ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเด็กสาววัยรุ่น แต่เมื่อโตขึ้นรอบความห่างของการมีประจำเดือนก็จะสั้นลง โดยเฉลี่ย คือ ประมาณ 21 – 35 วัน และท้ายที่สุดเมื่อถึงวัยใกล้หมดประจำเดือน เมื่อร่างกายของคุณเริ่มสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลง ฮอร์โมนที่แปรปรวนจะทำให้การมาของประจำเดือนไม่แน่นอนยิ่งกว่าเดิม มีเลือดออกมาก หรือน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง ช่วงสถานการณ์แบบนี้สามารถยาวนานถึง 10 ปี ก่อนที่ประจำเดือนของคุณจะหยุดมาอย่างสิ้นเชิง การเปลี่ยนแปลงของรอบเดือนมักจะค่อยเป็นค่อยไป แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน หรือเลือดออกมามากผิดปกติ ก็ควรพบแพทย์ทันที
4. รู้หรือไม่ การรับมือกับประจำเดือน ไม่ได้มีแค่ผ้าอนามัยแบบแผ่น และสอดเท่านั้น
ปัจจุบันมีการทำถ้วยสำหรับรองรับประจำเดือน (Menstrual cup) ใช้กันในหลายประเทศ ข้อดี คือ ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย โดยสามารถใช้ได้สูงสุดถึง 12 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป อย่าลืมลองวิธีใหม่ ๆ เพื่อค้นหาสิ่งที่เหมาะสมที่สุดกับตัวเอง
5. รู้หรือไม่ กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) ยังคงเป็นเรื่องลึกลับ
1 – 2 สัปดาห์ก่อนการมีประจำเดือน อาการต่าง ๆ ที่หาสาเหตุไม่ได้ก็เริ่มเกิดขึ้น เช่น สิวที่ผุดขึ้นมา ความรู้สึกเกียจคร้าน ความอยากอาหารมากผิดปกติ รู้สึกบวม ท้องอืดและอารมณ์แปรปรวน มีการเรียกอาการเหล่านั้นว่ากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome: PMS) ซึ่งผู้หญิงแต่ละคนก็จะมีอาการที่แตกต่างกันไป
แม้แต่แพทย์ยังไม่รู้แน่ชัดว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น โดยเหตุผลจะเหมือนเป็นสิ่งที่ผสม ๆ กัน เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างรอบการมีประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงทางเคมีในสมอง รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกอื่น ๆ เช่น บางคนมีภาวะซึมเศร้าที่อาจส่งผลให้กลุ่มอาการดังกล่าวแย่ลงไปได้อีก
และเมื่อถึงช่วงเวลาการมีประจำเดือนจริง ผู้หญิงบางคนยังต้องทนกับอาการที่น่าหนักใจนี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นอาการปวด เกร็ง เป็นตะคริว ท้องอืด ปวดหลัง และปวดหัว ซึ่งสร้างความยากลำบากให้กับชีวิตและการทำงาน
โดยวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมอาการก่อนมีประจำเดือน คือ การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เริ่มที่การออกกำลังกายประมาณ 30 นาทีในแต่ละวัน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หรือประมาณ 8 ชั่วโมงต่อคืน และงดการสูบบุหรี่ กินผักผลไม้และธัญพืชให้มากขึ้น พยายามจำกัดปริมาณเกลือ โซเดียม รวมทั้งน้ำตาล คาเฟอีน และแอลกอฮอล์
ไปพบแพทย์หากอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) เริ่มทำให้คุณรู้สึกว่ากำลังใช้ชีวิตอย่างไม่ปกติ การมีอาการซึมเศร้า หรือวิตกกังวล ซึ่งเป็นอาการทางใจร่วมด้วย เป็นสัญญาณว่าคุณอาจเป็นกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual dysphoric disorder: PMDD) ซึ่งอาการในกลุ่มนี้คุณควรไปพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษาทันที
เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูล: www.webmd.com
ภาพประกอบ: www.freepik.com