ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

โรคติดเชื้อ

โรคติดเชื้อ

โรคติดเชื้อ (Infectious disease) กิดจากเชื้อจุลชีพขนาดเล็กที่ผ่านการป้องกันโดยธรรมชาติของร่างกาย ซึ่งส่งผลทำให้เกิดผลหลายอย่างส่งผลให้เกิดอาการได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงเสียชีวิตได้ จนถึงปัจจุบันนี้แม้มีโรคติดเชื้อหลายโรคที่สามารถให้การรักษา หรือ การป้องกันได้ แต่มนุษย์ยังสามารถเกิดโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นใหม่ หรือ เป็นเชื้ออุบัติใหม่ที่ยังสามารถพบได้ในปัจจุบัน

 

เชื้อก่อโรค (Pathogen) สามารถเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้ง แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อราหรือปรสิต เชื้อทั้งนี้ยังมีจุลชีพจำนวนมากอาศัยอยู่ในร่างกายของเรา โดยไม่ก่อให้เกิดโรคและเป็นประโยชน์ เรียก จุลชีพไม่ก่อโรค (Non pathogen) แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอหรือในบางสภาวะ จุลชีพดังกล่าวสามารถก่อให้เกิดโรคได้ เราเรียกการติดเชื้อในลักษณะนี้ว่าการติดเชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic infection)

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าเชื้อก่อโรคนั้นสามารถพบได้ทั่วไป แต่เนื่องจากการทำงานที่มีประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันของมนุษย์ทำให้ เชื้อก่อโรคไม่สามารถทำอันตรายเราได้ โดยเชื้อเหล่านี้มีหลากหลาย สามารถแบ่งออกได้เป็น

  1. แบคทีเรีย เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่สามารถเห็นรูปร่าง และลักษณะได้โดยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งเป็นเชื้อที่มีขนาดเล็กมาก ดังที่กล่าวมาแล้วว่าไม่ใช่แบคทีเรียทุกชนิดที่มีปัญหาและก่อโรคในร่างกาย แต่บางชนิดทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายได้อีกด้วย เช่น Lactobacillus acidophilus เป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ ทำหน้าที่ย่อยอาหาร และดูดซึมสารอาหารบางอย่างได้ดียิ่งขึ้น เชื้อก่อโรคจากแบคทีเรีย เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ, การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หรือ การติดเชื้อวัณโรค เป็นต้น
  2. ไวรัส เป็นสิ่งมีชีวิตที่เล็กกว่าเซลโดยทั่วไป และต้องการเซลของสิ่งมีชีวิตในการแบ่งตัว ซึ่งที่รู้จักกันมีหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ ไวรัสเอชไอวี, เริม, หัด, สุกใส, ไข้หวัดใหญ่เป็นต้น
  3. เชื้อรา ซึ่งมีสองประเภทใหญ่ ๆ หากแบ่งตามรูปร่างคือ ยีสต์ และ ราสายการติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อรามักต้องการการเสื่อมหรือเสียหายของระบบป้องกันตัวทำให้เข้าสร้างความเสียหายกับร่างกายได้
  4. โปรโตซัว เป็นสัตว์เซลเดียวที่มีลักษณะการดำรงค์ชีวิตคล้ายสัตว์ การติดเชื้อโปรโตซัวมักเป็นการติดเชื้อผ่านอาหารที่ไม่สะอาด หรือ เป็นอาหารที่อยู่ในวงจรชีวิตของโปรโตซัวเหล่านั้น
  5. หนอนตัวกลม โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะกลายเป็นตัวเต็มไว และอาจเกิดโรคกับส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็น ลำไส้, ปอด, ตับ ผิวหนัง

โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic disease) หมายถึง โรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นในมนุษย์ซึงได้รับมาจากสัตว์ ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าอาจจะทำให้สัตว์ที่มีเชื้อโรคนั้นแสดงหรือไม่แสดงอาการก็ได้ โดยมีทั้ง โรคอุบัติใหม่ (emerging disease) และโรคอุบัติซ้ำ (re-emergiing) ซึ่งจากข้อมูลปัจจุบันพบว่าโรคติดเชื้อส่วนใหญ่ที่พบในมนุษย์มีความสามารถในการถ่ายทอดระหว่างคนและสัตว์

โรคติดเชื้อสามารถส่งผ่านจากผู้ป่วยไปสู่คนปกติได้ในหลายช่องทาง เช่น การหายใจ การสัมผัส การกินอาหารปนเปื้อน ถูกสัตว์ที่เป็นพาหะกัด เป็นต้น จึงเรียกได้อีกชื่อว่า “โรคติดต่อ” (Transmissible disease หรือ Communicable disease)

 

อาการ

อาการที่พบบ่อย

โรคติดเชื้อแต่ละชนิดมีอาการและอาการแสดงเฉพาะเจาะจง โดยอาการที่พบบ่อย เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ  ไอ นอกนั้นจะเป็นอาการเฉพาะขึ้นกับว่าเป็นการติดเชื้อกับอวัยวะในระบบใด เช่น อาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก เป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ อาการท้องเสีย ปวดท้อง อาจมีอุจจาระเป็นเลือด เมื่อเป็นการติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร อาการปัสสาวะแสบ ขัด บ่อย และอาจมีปัสสาวะเป็นเลือด เมื่อเป็นการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ อาการตกขาวผิดปกติ หรือมีแผล หนอง ที่อวัยวะเพศ อาจเป็นการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

เมื่อไรจึงควรไปพบแพทย์ 

การติดเชื้อที่ไม่รุนแรงอาจช่วยด้วยการพักผ่อนและการรักษาตามอาการอยู่กับบ้านได้ ในกรณีติดเชื้อรุนแรงหรือมีอาการดังนี้ ควรไปพบแพทย์ทันที เช่น มีปัญหาในการหายใจ มีอาการไอนานกว่าหนึ่งสัปดาห์ มีอาการปวดศีรษะรุนแรงมีไข้ พบผื่นหรือบวม มีไข้ที่หาสาเหตุไม่ได้เป็นเวลานาน มีปัญหาในการมองเห็นฉับพลัน

 

สาเหตุ

ประเภทของการติดเชื้อ

การติดเชื้อโดยภาพรวมสามารถแบ่งออกเป็นได้สองประเภท

  1. การติดเชื้อหลายระบบ หรือ การติดเชื้อที่ไม่มีตำแหน่งชัดเจน เช่น มาลาเรีย (malaria), การติดเชื้อเอชไอวี (HIV), การติดเชื้อไข้เหลือง (yellow fever) เป็นต้น
  2. การติดเชื้อที่มีตำแหน่งชัดเจน สามารถทำให้เกิดโรคในอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง เช่น ไข้หวัด (ติดเชื้อเฉพาะทางเดินหายใจส่วนบน), การติดเชื้อในทางเดินอาหาร, การติดเชื้อในปอด และ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อในตำแหน่งเหล่านี้สามารถกระจายเชื้อทางกระเสเลือดไปตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกาย และ ทำให้เกิดอาการหลากหลายได้ ซึ่งสามารถทำให้เกิดโรคหรืออาการที่รุนแรงได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยสองอย่าง
    • การติดเชื้อเฉพาะที่ที่รุนแรงซึ่งเกิดจากตัวเชื้อ เช่น วัณโรค ซึ่งมีความสามารถในการทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาทั่วโลกในปัจจุบันโดยเฉพาะประเทศไทย
    • การติดเชื้อเฉพาะที่ที่รุนแรงซึ่งเกิดจากตำแหน่งของการติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อ ในหัวใจ หรือ ในสมอง

การติดต่อของจุลชีพก่อโรคหรือเชื้อโรค

เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดโรคติดเชื้อหรือโรคติดต่อได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมหลายช่องทาง ได้แก่

  1. การสัมผัสเชื้อโรคทางตรง
    เป็นการติดต่อโดยส่วนใหญ่ของโรคติดเชื้อ ซึ่งเป็นการสัมผัสกับผู้ป่วยหรือสัตว์ที่ติดโรค ซึ่งช่องทางของการติดเชื้อสามาถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่องทางใหญ่ ๆ ดังนี้

    • การติดต่อจากคนสู่คน เป็นวิธีการติดเชื้อที่พบได้บ่อย โดยเป็นการแพร่เชื้อ แบคทีเรีย, ไวรัส โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การสัมผัสทางผิวหนังกับผู้ติดเชื้อสามารถทำให้เกิดโรคติดเชื้อที่เกี่ยวกับไวรัส เช่น โรคอีสุกอีใส โรคกลาก, การหายใจเอาเชื้อโรคในอากาศจากการไอ จาม ทำให้เกิดโรคติดเชื้อที่เกี่ยวกับระบบหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่, การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น สัมผัสเสมหะสามารถทำให้เกิดวัณโรค, การสัมผัสสารคัดหลั่งจากช่องคลอดหรือน้ำอสุจิสามารถทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการสัมผัสเลือดของผู้ติดเชื้อสามารถทำให้เกิดโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี เป็นต้น
    • การติดต่อจากสัตว์สู่คน เช่น การกัดหรือข่วนโดยสัตว์ที่มีการติดเชื้อ ซึ่งอาจแพร่เชื้อมาสู่มนุษย์ได้ซึ่งการติดเชื้อบางอย่างอาจทำให้สามารถเสียชีวิตได้ นอกจากนี้สิ่งปฏิกูลของสัตว์ยังสามารถแพร่เชื้อได้อีกด้วย ตัวอย่างการแพร่เชื้อจากสัตว์ เช่น การได้รับเชื้อ ท็อกโซพลาสโมสิสจากการเก็บกวาดอุจจาระของแมว
    • การติดต่อผ่านแมลง เช่น ยุง, หมัด, เห็บ ซึ่งนำเชื้อจากสัตว์หรือมนุษย์ที่ติดเชื้อ ไปสู่มนุษย์รายอื่น ซึ่งเราเรียกแมลงเหล่านี้ว่าพาหะ เช่น ยุงลายที่นำเโรคไข้มาลาเรีย เป็นต้น
    • การติดต่อผ่านอาหารที่ปนเปื้อน ในอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนอาจทำให้มีเชื้อบางชนิดมีปริมาณมากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นช่องทางของการติดเชื้อได้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ทำไม่สุก
    • การติดต่อจากมารดาสู่ทารก ผู้หญิงตั้งครรภ์สามารถถ่ายทอดเชื้อก่อโรคบางชนิดได้ โดยผ่านทางรกโดยตรง หรือ ผ่านทางการคลอดทางช่องคลอด
  2. การสัมผัสเชื้อโรคทางอ้อม
    เนื่องจากเชื้อโรคบางชนิด สามารถอยู่ภายนอกร่างกายสิ่งมีชีวิตได้ในระยะเวลาหนึ่ง โดยอยู่ตามสภาพแวดล้อม เช่น ราวบันได ลูกบิด เสื้อผ้า ตุ๊กตา ผ้าห่ม รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ของผู้ติดเชื้อ ทำให้เมื่อคนไปสัมผัส เช่น มือไปโดนแล้วมาสัมผัสจมูก ปากหรือดวงตา จะสามารถรับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้อีกทาง ดังนั้นการล้างมือ ก่อนสัมผัสใบหน้าของตนเองจึงเป็นวิธีการป้องกันการติดเชื้อที่ง่ายและมีประสิทธิภาพที่ดีอีกวิธ๊หนึ่ง

ปัจจัยเสี่ยง และผลของการติดเชื้อ

ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการเสมอ คือ 1. ตัวเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงของตัวเชื้อเอง หรือ จำนวนของเชื้อ 2. การตอบสนองของภูมิคุ้มกันของร่างกาย 3. ประสิทธิภาพในการรักษา

ดังนั้นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้การติดเชื้อรุนแรงมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความไม่สะอาดของสภาพแวดล้อม โดยผู้ที่อาศัยในแหล่งชุมชนที่มีอาหาร น้ำดื่ม เครื่องอุปโภคบริโภคที่ไม่สะอาด มีการใช้ข้าวของเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่นจะมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ รวมถึง

ผู้มีภูมิต้านทานโรคต่ำ ซึ่งเป็นได้จากสามปัจจัย

  1. ปัจจัยจากตัวผู้ป่วยเอง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยมะเร็งชนิดที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ
  2. ปัจจัยจากการรักษาโรคบางชนิด เช่น ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยากดภูมิในผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ
  3. ปัจจัยจากการติดเชื้อที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง เช่น การิตดเชื้อเอชไอวี

 

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยเบื้องต้นสามารถทำได้โดย การซักประวัติอาการ ประวัติทางการแพทย์ การตรวจดูรอยโรค โดยอาจมีการตรวจเพิ่มเติม ดังนี้

  1. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เนื่องจากโรคติดเชื้อหลายชนิดทำให้เกิดอาการและอาการแสดงหลากหลาย และมีความคล้ายคลึงกันในบางโรค ดังนั้นการนำตัวอย่างจากร่างกายผู้ป่วยไปตรวจ เช่น สารคัดหลั่งอาจทำให้พบตำแหน่งของการติดเชื้อ หรือชนิดของการติดเชื้อได้
    • การตรวจเลือด โดยแพทย์/พยาบาล/นักเทคนิคการแพทย์ จะทำการใช้เข็มแทงใต้ท้องแขนหรือตำแหน่งอื่น เพื่อดูดเลือดออก ซึ่งการสืบค้นทางเลือดนับเป็นวิธีการตรวจหาการติดเชื้อโดยส่วนใหญ่ที่สำคัญได้แก่ การนำเลือดไปเพาะเชื้อแบคทีเรีย หรือตรวจหาเชื้อไวรัสด้วยวิธีพีซีอาร์ เป็นต้น
    • การตรวจปัสสาวะ เป็นการตรวจโดยให้ปัสสาวะใส่ที่เก็บ เป็นวิธีการที่ไม่ทำให้ผู้ป่วยต้องเจ็บ หรือปวด แต่ว่าวิธีการเก็บต้องถูกต้องเนื่องจากอาจทำให้ปนเปื้อนจนแปลผลคลาดเคลื่อนได้ อย่างไรก็ตามก่อนที่จะทำการเก็บจะมีการอธิบายวิธีการเก็บก่อนเพื่อให้การแปลผลได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น
    • การตรวจโดยการป้ายคอ โดยใช้ไม้ปราศจากเชื้อ กวาดที่บริเวณคอเพื่อทำการส่งตรวจ เช่น การส่งตรวจหาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นต้น
    • การตรวจอุจจาระ เป็นการตรวจอุจจาระของผู้ป่วยโดยจุดประสงค์หลักมักเป็นการตรวจเพื่อหา เชื้อปรสิต หรือ ไข่ที่ออกมาในทางเดินอุจจาระ
    • การตรวจน้ำไขสันหลัง เป็นการตรวจน้ำไขสันหลังของผู้ป่วย วิธีการตรวจโดยการใช้เข็มแทงทะลุผ่านช่องระหว่างกระดูกสันหลัง หลังจากที่ฉีดยาชาแล้วเพื่อเข้าไปในช่องไขสันหลังแล้วนำน้ำไขสันหลังออกมาตรวจซึ่งการตรวจวิธีนี้สามารถตรวจได้หลากหลายไม่เพียงเฉพาะโรคติดเชื้อเท่านั้น ซึ่งในระหว่างการตรวจอาจต้องมีการขอความร่วมมือจากผู้ป่วย เช่น การให้งอเข่าเข้าชิดอกเพื่อทำให้สามารถตรวจได้ง่ายขึ้น และผู้ป่วยเจ็บลดลง
  2. การตรวจภาพรังสี มีหลายวิธีไม่ว่าจะเป็น การถ่ายเอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หรือ เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อหาตำแหน่งของอวัยวะที่สงสัยว่าติดเชื้อ
  3. การตัดชิ้นเนื้อ ในกรณีที่ตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ทราบผล หรือ ในบางโรคที่มีความจำเป็นต้องได้ผลชิ้นเนื้อเท่านั้นในการวินิจฉัย เช่น การติดเชื้อรา โดยส่วนใหญ่เป็นการตัดชิ้นเนื้อที่ใช้ปริมาณไม่มาก

 

การรักษา

โรคติดเชื้อชนิดไม่รุนแรง สามารถรักษาตามอาการได้ แต่ในกรณีที่เป็นโรคติดเชื้อชนิดรุนแรงซึ่งอาจทำให้เสียชีวิต หรือผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงตามที่กล่าวมาข้างต้น ควรเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ทันที สาเหตุและอุปสรรคของการรักษาโรคติดเชื้อในปัจจุบันได้แก่

  1. เชื้อจุลชีพหลายชนิดที่มีความสามารถก่อโรครุนแรงได้ ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย, ไวรัส, เชื้อรา และ เชื้อปาราสิต มีการค้นพบใหม่ทุก ๆ ปี เช่น โรคเชื้อไวรัสอีโบลา เป็นต้น
  2. เชื้อจุลชีพหลายชนิดที่เคยค้นพบมาก่อน ปัจจุบันเชื้อเหล่านี้มีความสามารถที่จะดื้อหรือมีความสามารถต้านการรักษาที่มี ไม่ว่าจะเป็นยาต้านจุลชีพ เช่น เชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาหลายขนานเป็นต้น
  3. จำนวนประชากรที่มากขึ้นและอยู่กันหนาแน่น และการเดินทางสามารถทำได้ง่ายขึ้น ทำให้การระบาดของโรคติดเชื้อสามารถแพร่กระจายได้มากขึ้น

โดยภายหลังจากทราบถึงชนิดของเชื้อ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคแล้ว แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาโดยให้ยาเพื่อกำจัดหรือต้านเชื้อโรคในร่างกายเป็นหลัก เช่น

  1. ยาปฏิชีวนะในกรณีที่ร่างกายติดเชื้อแบคทีเรีย ทั้งนี้แบคทีเรียและยาปฏิชีวนะมีหลากหลายชนิด โดยจะมีผลในการรักษาต่อเมื่อเลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่สอดคล้องกับเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะจึงจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร การซื้อยาทานเอง อาจได้ยาปฏิชีวนะที่ไม่ตรงกับเชื้อที่อยู่ในร่างกาย หรืออาจทานไม่ครบปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม ทำให้เกิดเชื้อดื้อยารักษายากขึ้นและอาการไม่ดีขึ้นได้ และที่สำคัญยาปฏิชีวนะนั้นสงวนไว้ใช้กับการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ดังนั้นการติดเชื้อไวรัสจะไม่มีผลแต่อย่างใด
  2. ยาต้านไวรัสในกรณีที่ร่างกายติดเชื้อไวรัสชนิดที่มียาต้าน ทั้งนี้การรักษาโดยทั่วไป จะเป็นการรักษาตามอาการ เนื่องจากร่างกายจะสร้างภูมิต้านโรคขึ้นมากำจัดไวรัสได้เอง โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ยาต้านไวรัสในกรณีโรครุนแรง หรือเมื่อเป็นการติดเชื้อของผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ 
  3. ยาต้านเชื้อราในกรณีที่ร่างกายติดเชื้อรา มีทั้งชนิดที่เป็นยาภายนอก (Topical antifungal drug) เพื่อรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนังหรือเล็บ ชนิดกินเพื่อรักษาการติดเชื้อราบางชนิดที่มีผลต่อปอดหรือเยื่อเมือก หรือชนิดฉีดเพื่อรักษาการติดเชื้อราอวัยวะภายใน โดยเฉพาะกับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  4. ยาต้านปรสิต ปรสิตบางชนิด เช่น โปรโตซัวที่ทำให้เกิดโรคมาลาเรีย จะมียาต้านเชื้อมาลาเรียอยู่หลายชนิด ทั้งนี้ แพทย์จะต้องพิจารณาถึงเรื่องการดื้อยา ในการพิจารณาใช้ยาให้เหมาะสมด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเชื้อจุลชีพบางชนิด หรือหลาย ๆ ชนิดมีความสามารถในการต้านฤทธิ์ของยาต้านจุลชีพ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ยาต้านจุลชีพที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นแพทย์ หรือผู้ป่วยควรใช้ยาต้านจุลชีพอย่างระมัดระวัง เนื่องจากเป็นสาเหตุที่กระตุ้นทำให้เกิดเชื้อดื้อยาที่สำคัญ


เชื้อดื้อยา
โดยส่วนใหญ่เมื่อกล่าวถึงเชื้อดื้อยา มักหมายความถึงเชื้อแบคทีเรียที่มีความสามารถในการตื้อยาต้านจุลชีพได้หลายขนาน ซึ่งเชื้อดื้อยาเหล่านี้สามารถก่อโรคได้ไม่แตกต่างกับเชื้อทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นปอดอักเสบ, การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ, การติดเชื้อในชั้นผิวหนัง

แบคทีเรียมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อเอาต้ัวรอดจากยาที่มนุษย์สร้างเพื่อฆ่าเชื้อ ซึ่งมีผลทำให้การรักษานั้น ๆ ที่เคยเป็นการรักษามาตรฐาน อาจทำให้การรักษานั้นได้ผลลดลง หรืออาจไม่ได้ผลเลยในบางราย สิ่งที่ควรทราบ คือ วิธีการที่ทำให้เชื้อแบคทีเรียกระจายเร็วขึ้น เช่น

  1. ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งปัจจัยข้อนี้เป็นข้อที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม ไม่จำเป็นจะทำให้เชื้อมีการดื้อยาได้อย่างรวดเร็วมาก ดังนั้นควรใช้ยาเท่าที่จำเป็น ใช้ยาอย่างเคร่งครัด ไม่นำยาปฏิชีวนะของผู้อื่นที่มีอาการคล้ายกับเรามารับประทานเป็นต้น
  2. การป้องการติดเชื้อไม่เหมาะสม เช่น ไม่ล้างมือเมื่อสััมผัสกับผู้ป่วย หรือ ผู้ที่สงสัยว่ามีอาการป่วย
  3. อาศัยหรือทำงานในสถานที่ที่ผู้คนแออัดเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ
  4. การประกอบอาหาร หรือรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

  1. การฉีดวัคซีน
    ปัจจุบันวัคซีนเป็นวิธีการป้องกันการติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพ และอาจจะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมากที่สุดในปัจจุบัน (IDSA, 2019) โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ และมีความรุนแรงสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนหลายชนิดในปัจจุบัน โดยวัคซีนอาจแบ่งออกเป็น

    • วัคซีนที่แนะนำให้ฉีดในผู้ป่วยทั่วไป เช่น วัคซีน คอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก, วัคซีนป้องกันสุกใส, วัคซีนป้องกัน หัด-คางทูม-หัดเยอรมัน, วัคซีนป้องกันเชื้อ HPV, วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่, วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี และ วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส
    • วัคซีนที่แนะนำในผู้ป่วยพิเศษบางกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยตั้งครรภ์, ผู้ที่ทำงานในสถานพยาบาล, ผู้ป่วยโณคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคไตเรื้อรัง โรคตับแข็ง, ผู้ป่วยที่ตัดม้าม, ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีที่มีจำนวน CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/uL, ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง, ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ หรือ ปลูกถ่ายไขกระดูก
    • วัคซีนที่แนะนำในผู้ป่วยที่มีการเดินทาง เช่น วัคซีนไข้เหลือง วัคซีนอหิวาตกโรค วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอหรือบี วัคซีนไข้ไทฟอยด์ เป็นต้น
  2. เสริมสร้างสุขาภิบาลในระดับชุมชน
    • สนับสนุนให้มีแหล่งน้ำสะอาด, มีการจัดการสิ่งปฏิกูลที่เหมาะสม เช่น แหล่งน้ำเสีย หรือ การกำจัดขยะให้เหมาะสม
    • เน้นและสนับสนุนการล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะก่อนและหลังการเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังการใช้ห้องน้ำ อย่าแตะต้องตาจมูกหรือปากด้วยมือ เนื่องจากเป็นช่องทางหลักที่เชื้อโรคต่างๆเข้าสู่ร่างกาย
    • ดูแลขั้นตอนในการเตรียมอาหารให้สะอาดและปลอดภัย เช่น อุปกรณ์ครัว ภาชนะบรรจะการเก็บอาหารทั้งก่อนและหลังทำเสร็จ รวมถึงการปรุงอาหารควรเป็นอาหารสุกอยู่เสมอขึ้นอยู่กับอาหารแต่ละชนิด
  3. การสืบค้นโรค
    โรคติดเชื้อบางชนิดจำเป็นต้องได้รับการสืบค้นในชุมชน เพื่อหาข้อมูลของการติดต่อโรคในชุมชน รวมไปถึงเฝ้าระวังการระบาดที่อาจเกิดขึ้นจากเชื้ออุบัติใหม่ หรือ โรคระบาดจากเชื้อเดิม เช่น การสืบค้นวัณโรคในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นบริเวณที่แออัด เช่น ห้องขัง หรือ บริเวณที่มีผู้ติดเชื้อวัณโรคเป็นต้น
  4. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง
    • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องอุปโภคบริโภคร่วมกัน เช่น แปรงสีฟัน หวี มีดโกน แก้วน้ำ รวมถึงจานชามในกรณีที่ไม่มั่นใจในความสะอาด
    • หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่แออัด เช่นเดียวกับบุตรหลานกรณีที่ป่วยควรอยู่กับบ้าน ไม่ควรไปโรงเรียน
    • หลีกเลี่ยงการมีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัย เช่น ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  5. การล้างมือ
    การล้างมือนับเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ รวมไปถึงยังป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้ดีอีกด้วย ทุกครั้งที่เราสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว จะทำให้สะสมเชื้อที่อยู่ที่ต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ได้ ดังนั้นหากเรานำมือที่มีเชื้อไปสัมผัสตามตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกายส่งผลให้สามารถแพร่เชื้อที่อยู่บนมือเข้าสู่ร่างกายของเราได้ ความจริงแล้วเราไม่อาจทำให้มือของเราปราศจากเชื้ออยู่เสมอตลอดเวลา แต่ว่าการล้างมือบ่อย ๆ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ปริมาณเชื้อที่อยู่บนมือนั้นลดลง เราควรล้างมือเมื่อ

    • ล้างมือเสมอก่อนทำสิ่งเหล่านี้
      • ก่อนรับประทานอาหาร หรือ ก่อนเตรียมอาหาร
      • ก่อนทำแผล หรือ ก่อนที่ให้การดูแลผู้ป่วย
      • ก่อนหรือหลังถอดคอนแทคเลนส์
    • ล้างมือเสมอหลังจากทำกิจกรรมเหล่านี้
      • หลังเตรียม หรือ ประกอบอาหาร
      • หลังใช้ห้องน้ำ หรือ เปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก/ผู้ใหญ่
      • หลังสัมผัสสัตว์ หรือ สิ่งปฏิกูลของสัตว์
      • หลังจามหรือไอหรือใช้มือปิดปาก
      • หลังทำแผล หรือ ดูแลผู้ป่วย
      • หลังทำการกำจัดขยะ
    • ล้างมือเสมอเมื่อเห็นสิ่งปนเปื้อนบนมือ

 

เอกสารอ้างอิง
  1. Infectious Diseases Society of America (2019), Fact about ID (online). Available: https://www.idsociety.org/public-health/facts-about-id/
  2. สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย, คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่ และ ผู้สูงอายุ (Recommended Adult and Elderly Immunization Schedule) พ.ศ. 2561
  3. Whorld Health Organization (2019), Infectious diseases. Available: https://www.who.int/topics/infectious_diseases/en/
  4. Mayo Clinic (2019), Infectious diseases, Available: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/infectious-diseases/symptoms-causes/syc-20351173
  5. James M. Steckelberg (2019), What are superbugs, and how can I protect myself from infection?, Available: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/infectious-diseases/expert-answers/superbugs/faq-20129283
  6. Mayo Clinic Staff (2019), Germs: Understand and protect against baceria, viruses and infection, Available: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/infectious-diseases/in-depth/germs/art-20045289

ภาพประกอบจาก : www.pixabay.com

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก