รับมือกับ ความกลัวและความกดดัน
ความกดดัน ความบีบคั้นที่เกิดขึ้นยาวนานนั้นทำให้เราเสียสุขภาพจิต ไปพบกับวิธีรับมือกับความกลัวและความกดดัน เพื่อสุขภาพจิตที่ดีขึ้นกันค่ะ
รับมือกับ…ความกลัวและความกดดัน
คนที่บอกว่าตัวเองไม่เคยกลัวอะไรเลยนั้น เชื่อได้เลยว่าเขาพูดโกหกแน่ ความกลัวไม่ใช่ความรู้สึกที่เลวร้าย กลับทำให้เราระมัดระวัง ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกนี้เป็นเช่นเดียวกับความรู้สึกเจ็บปวด เป็นความทุกข์ที่ไม่มีใครต้องการ แต่ความทุกข์นี้เองที่ ทำให้เราต้องหันมาใส่ใจต่อปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ หลายคนรอดชีวิตมาได้ทุกวันนี้ก็เพราะความกลัว
ปัญหาของสำราญ
สำราญทำงานอย่างหนักเพื่อ หวังความก้าวหน้าในการงาน ในวันที่ผู้จัดการบอกว่าเขาได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นหัวหน้างาน เขากลับรู้สึกไม่สบายใจ เกิดกลัวว่าตัวเองจะทำไม่ได้
สำราญกลัวอะไร เขาบอกว่าจะต้องมีการประชุมหัวหน้างานต่าง ๆ ในแต่ละเดือน ซึ่งเขารู้สึกอึดอัดเมื่อต้องพบคนเหล่านี้ นอกจากนี้เขายังต้องรับผิดชอบมากขึ้น คุมคนงานที่มีปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น อาจต้องทำงานนอกเวลามากกว่าเดิม เพื่อนร่วมงานเก่าก็ดูเฉยเมย เปลี่ยนแปลงไป ความกดดันต่าง ๆ ดูเหมือนจะพุ่งสู่ตัวเขา
สิ่งที่สำราญประสบนี้ เป็นเรื่องที่พบได้ไม่น้อยในชีวิตการทำงานปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันสูง ไม่เฉพาะแต่การถูกลดขั้น หรือให้ออกเท่านั้น การได้รับการส่งเสริมยังอาจก่อให้เราเกิดความเครียดได้ ความกดดันเกิดได้ทั้งกับการประสบความสำเร็จและความล้มเหลว
ปัญหาของสำราญคล้ายกันกับ สิ่งที่ได้กล่าวมาแล้ว เขาคิดว่าตัวเองไม่ควรจะมีความรู้สึกนี้พยายามขจัดมันออกไปโดยวิธีการต่าง ๆ คนเรามักจะต้องการคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่ามาบอกว่าไม่เป็นไรหรอกที่มีความ รู้สึกเช่นนี้ ขอให้ตั้งใจทำงานต่อไปเถอะ ซึ่งถ้าเราปฏิบัติตนแบบอยู่อย่างสร้างสรรค์ จะตระหนักได้ด้วยตนเองว่าการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเช่นไรก็ตาม ล้วนก่อแรงกดดันแก่เราเป็นเรื่องธรรมดา แม้ว่าบางครั้งทำให้เราเกิดความไม่สบายใจบ้าง แต่ก็เป็นการเตือนให้เราระมัดระวัง ปฏิบัติตนอย่างรอบคอบไม่ประมาท เมื่อเราเกิดความหวั่นกลัว ไม่สบายใจทั้งร่างกายและจิตใจจะอยู่ในสภาพพร้อมอยู่ตลอดเวลา เพื่อเตรียมรับต่อสถานการณ์ นั่นคือเราได้รับการเตือนว่าจะต้องทำอะไรบางอย่าง
ความกดดัน ความบีบคั้นที่เกิดขึ้นยาวนานส่งให้เกิดผลเสียตามมา เช่น เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ความดันโลหิตสูง นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ และภูมิต้านทานของร่างกายลดลง เป็นต้น ซึ่งสาเหตุนั้นมิใช่ความกดดันจากสภาพแวดล้อม หรือความรู้สึกที่มีจากตนเอง หากแต่อยู่ที่การไม่สามารถแก้ไขจัดการต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ ถ้าเราไม่ทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ก็เปรียบเสมือนนั่งมองดูน้ำที่กำลังไหลท่วมบ่า ท่วมบ้านตนเอง นอกจากจะโชคดีที่น้ำหยุดท่วม ซึ่งโอกาสเช่นนี้คงพบได้น้อยครั้ง
สำราญมิได้หวังรอคอยโชคชะตา เขาถามหัวหน้างานคนอื่น ๆ ว่ารู้สึกอย่างไร เมื่อต้องรับงานครั้งแรก หรือเข้าที่ประชุม ซึ่งเขาก็รู้สึกสบายใจขึ้นเมื่อทราบว่าคนอื่น ๆ ก็รู้สึกเช่นเดียวกัน เขาอ่านหนังสือเกี่ยวกับการบริหารงาน พยายามทำความรู้จักผู้ใต้บังคับบัญชาแต่ละคน คิดหาแผนงานหรือโครงการใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงการทำงานเสนอต่อผู้จัดการ แน่นอนว่าคงไม่ราบรื่นเสมอ ไปสำหรับการเริ่มต้นในสิ่งใหม่ ๆ แต่ในขณะที่สำราญยุ่งเกี่ยวกับการพูดคุยแนะนำตนเอง ศึกษาในเรื่องต่าง ๆ เขาลืมที่จะใส่ใจต่อความรู้สึกว่าเขายังไม่ พร้อมพอ เมื่อความรู้สึกนี้เกิดขึ้นมาอีก เขาก็จะมาหาดูว่าอะไรที่ยังไม่ได้ทำหรือทำไม่เต็มที่อีก ท่ามกลางความพยายามอยู่เรื่อย ๆ ความมั่นใจในตนเองมีเพิ่มมากขึ้น ความกังวลใจในตนเองก็ลดลงตามลำดับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ศ.นพ. มาโนช หล่อตระกูล(2010).รับมือกับ…ความกลัวและความกดดัน. 2 เมษายน 2558.
แหล่งที่มา : http://thaipsychiatry.wordpress.com/
ภาพประกอบจาก : www.xn--12c9b2bwcg6evc.com