ภาวะน้ำตาลสูงหลังอาหาร ในผู้ป่วยเบาหวาน
ค่าน้ำตาลปกติก่อนอาหารและหลังอาหาร
ค่าน้ำตาลปกติก่อนอาหาร หลังอดอาหาร จะมีค่า 70 – 99 มก/ดล. แต่ถ้า 100 – 125 มก/ดล. จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน และถ้ามีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก/ดล. จะเป็นโรคเบาหวานเมื่อได้รับการตรวจตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป แต่จะมีบางรายที่ค่าน้ำตาลก่อนอาหารน้อยกว่า 126 มก/ดล. แต่เป็นโรคเบาหวานถ้ามีการตรวจพิเศษโดยการรับประทานน้ำตาล 75 กรัม และมีระดับน้ำตาลที่ 2 ชั่วโมง มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก/ดล. จะเป็นโรคเบาหวานเช่นกัน และถ้าน้ำตาลที่ 2 ชั่วโมงหลังการรับประทานอาหาร ตั้งแต่ 140 – 199 มก/ดล. จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน แม้ว่าจะมีระดับน้ำตาลก่อนอาหารอยู่ในเกณฑ์ปกติ1
ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ถ้าควบคุมระดับน้ำตาลที่ดีมากจะมีค่า น้ำตาลหลังอาหารที่ 1 – 2 ชั่วโมง ไม่เกิน 140 มก/ดล. ซึ่งส่วนใหญ่จะมีระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) น้อยกว่า 6.5% แต่ ถ้าระดับน้ำตาลหลังอาหาร ไม่เกิน 180 มก/ดล.ซึ่งส่วนใหญ่จะมีระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) น้อยกว่า 7%
การวินิจฉัยน้ำตาลสูงหลังอาหาร
ผู้ป่วยโรคเบาหวานบางรายอาจจะไม่ได้มีการตรวจน้ำตาลหลังอาหาร ซึ่งการวินิจฉัยน้ำตาลสูงหลังอาหารสามารถทำได้โดยการตรวจน้ำตาลหลังอาหารโดยการตรวจเลือด หรือ เจาะปลายนิ้วหลังรับประทานอาหาร 1 – 2 ชั่วโมง หรือการใช้เครื่องตรวจระดับน้ำตาลตลอดเวลา ถ้าผู้เป็นเบาหวานมีระดับน้ำตาลก่อนอาหารดี แต่มีค่าน้ำตาลสะสม (HbA1c) สูง ส่วนหนึ่งเกิดจากน้ำตาลสูงหลังอาหาร การตรวจน้ำตาลหลังอาหารมีส่วนช่วยในการทราบ ชนิดและปริมาณอาหารที่รับประทานว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งพบว่าชาวเอเชียมีการบริโภคคาร์โบไฮเดรตสูงทำให้ระดับน้ำตาลหลังอาหารเพิ่มขึ้นสูงกว่าชาวยุโรป
ผลเสียของระดับน้ำตาลสูงหลังอาหารมีผลเสียอย่างไรบ้าง
ภาวะน้ำตาลสูงหลังอาหารจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจสูงเป็น 2 เท่าแม้ว่าจะมีระดับน้ำตาลก่อนอาหารปกติ จากกการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่าน้ำตาลมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือด และการที่มีน้ำตาลหลังอาหารสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากกว่าน้ำตาลก่อนอาหารสูง2-3
เมื่อมีการศึกษาโดยใช้เครื่องตรวจระดับน้ำตาลตลอดเวลา มีการศึกษาผลของระดับน้ำตาลก่อนอาหารและหลังอาหารว่ามีผลต่อระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) อย่างไร การศึกษาในคนเอเชียพบว่าในกลุ่มที่ควบคุมไม่ดีเป็นผลจากน้ำตาลก่อนอาหารร้อยละ 60 และประมาณร้อยละ 40 เป็นผลจากน้ำตาลหลังอาหาร PPG
การลดระดับน้ำตาลหลังอาหาร
- การรับประทานอาหาร
- ชนิดอาหาร การเลือกอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Glycemic index) ค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (glycemic index) คือ การวัดการดูดซึมของอาหารเทียบกับอาหารมาตรฐาน ได้แก่ ข้าวเจ้า ซึ่งมีไกลซีมิคอินเดกซ์ เท่ากับ 100 โดยผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานอาหารที่มี ไกลซีมิคอินเดกซ์ ต่ำ เพราะดูดซึมได้น้อยกว่า4 เช่น การบริโภคข้าวกล้อง จะมีค่าน้ำตาลหลังอาหารต่ำกว่า ข้าวขาวและข้าวเหนียว การบริโภคประเภท ก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้นจะมีดัชนีน้ำตาลน้อยกว่าก๋วยเตี๋ยว การบริโภคผลไม้ควรหลีกเลี่ยง ทุเรียน ลำไย เป็นต้น
- ปริมาณอาหาร ถึงแม้การเลือกอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Glycemic index) แต่รับประทานในปริมาณมากจะทำให้มีระดับน้ำตาลหลังอาหารสูงกว่าอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูงแต่ปริมาณน้อยกว่าได้
- ลำดับการรับประทานอาหาร เช่น ตัวอย่างการรับประทานอาหารชาวญี่ปุ่น จะรับประทานข้าวเป็นจานสุดท้าย โดยรับประทานอาหารผักและอื่น ๆ ก่อน จะมีระดับน้ำตาลหลังอาหารที่สูงขึ้นน้อยกว่า
- การรับประทานอาหารเส้นใยร่วม การรับประทานอาหารเส้นใยร่วม จะช่วยลดระดับน้ำตาลหลังอาหาร
- การออกกำลังกาย การออกกำลังกายหลังอาหาร เช่น การเดิน 10 – 15 นาที อาจจะช่วยลดระดับน้ำตาลหลังอาหาร
- ยาที่ลดน้ำตาลหลังอาหาร การรักษาด้วยยา5-10 ถ้าผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลก่อนอาหารสูงร่วมกับน้ำตาลสูงหลังอาหารอาจจะใช้ยาลดน้ำตาลชนิดใดก็ตามเพื่อลดน้ำตาลก่อนอาหารจะช่วยลดน้ำตาลหลังอาหารเช่นกัน แต่ถ้าน้ำตาลก่อนอาหารสูงไม่มาก ยาที่สามารถลดระดับน้ำตาลหลังอาหารด้วยยา ได้แก่ ยากลุ่ม อัลฟ่า กลูโคซิเดสอินฮิบิเตอร์ (AGI) แต่อาจจะมีผลข้างเคียง ทางเดินอาหาร เช่น ผายลม แน่นท้อง, ยากลุ่ม glinide แต่อาจจะเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ, ยากลุ่ม ดีพีพี 4 อินฮิบิเตอร์ ส่วนที่เป็นยาชนิดฉีด ได้แก่ ยา GLP-1 analog และอินซูลินชนิดที่ออกฤทธิ์สั้น
แหล่งที่มา
- Expert Committee on the Diagnosis and Classification of Diabetes Mellitus. Follow-up report on the diagnosis of diabetes mellitus. Diabetes Care 2003; 26:3160–7.
- Bonora E, Muggeo M, Post prandial blood glucose as a key factor for cardiovascular disease in type II diabetes: The epidemiologic evidence. Diabetologia 2001; 44: 2107-14.
- Hanefeld M, Koehler C, Henkel E , et al. Post-challenge hyperglycemia related more strongly than fasting hyperglycemia with carotid intema media thickness: the RIAD Study. Diabet Med 2000; 7: 835-40.
- Poster-Powell, Kaye. The Glycemic Index Guide. The glycemic index factor for people with diabetes. Hodder & Stroughtron Book; 1997: 74-93.
- Ghosh JM. Trial of Low Glycemic Diet and Acarbose Therapy for Control of Post-prandial Hyperglycemia in Type 2 Diabetes Mellitus, Preliminary report. Int J Diab Dev Ctries [Internet]. 2005 [cited 2013 Jul 2];25(3). Available from: http://www.diabetes.org.in/ journal/2005_july-sept/original_article3.pdf.
- Nattrass M, Lauritzen T. Review of prandial glucose regulation with repaglinide: a solution to the problem of hypoglycaemia in the treatment of Type 2 diabetes? Int J Obes Relat Metab Disord J Int Assoc Study Obes 2000; 24 Suppl 3:S21–31.
- Okada K, Yagyu H, Kotani K, Yamazaki H, Ozaki K, Takahashi M, et al. Effects of miglitol versus sitagliptin on postprandial glucose and lipoprotein metabolism in patients with type 2 diabetes mellitus. Endocr J 2013; 60(7):913-22.
- Holst JJ. Glucagon-like peptide-1: from extract to agent. The Claude Bernard Lecture, 2005. Diabetologia 2006; 49:253–60.
- Singh J. RAPID ACTING INSULIN ANALOGUES. [cited 2013 Jul 5]; Available from: http:// apiindia.org/pdf/medicine_update_2012/ diabetology_05.pdf 66. Galli-Tsinopoulou A, Stergidou D. Insulin analogues for type 1 diabetes in children and adolescents. Drugs Today Barc Spain 1998. 2012 Dec;48(12):795–809.
- Rosenfalck AM, Thorsby P, Kjems L, Birkeland K, Dejgaard A, Hanssen KF, et al. Improved postprandial glycaemic control with insulin Aspart in type 2 diabetic patients treated with insulin. Acta Diabetol 2000; 37:41–6.