เคล็ดไม่ลับ รับมือกับโรคซึมเศร้า
หากคุณเป็นผู้ป่วยหรือรู้ตัวว่ากำลังเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าหรือภาวะซึมเศร้า อย่าคาดหวังให้หายด้วยตัวเองเช่นเดียวกับการเจ็บป่วยธรรมดา เพราะการอดทนอาจทำให้ทุกอย่างแย่ลง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาให้เร็วที่สุดและควรให้ความร่วมมือกับแพทย์ เพื่อเยียวยาตัวเองในขั้นต้นควบคู่ไปด้วยกัน
อย่าหยุดรักษา
ในการรักษาโรคซึมเศร้า เป็นเรื่องปกติที่อาการป่วยอาจจะไม่ได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในเวลา 4 – 6 สัปดาห์แรก และบางกรณีก็อาจจะไม่ได้ผลทำให้ต้องปรับเปลี่ยนยาหรือวิธีการรักษาให้แตกต่างออกไปในแต่ละบุคคล แต่อย่าหมดหวัง ควรให้เวลามากขึ้น ในที่สุดแล้ว หากผู้มีอาการซึมเศร้าได้รับยาที่ถูกต้องในปริมาณที่เหมาะสม ติดต่อกันเป็นเวลาที่เพียงพอ จะช่วยให้การรักษาประสบความสำเร็จสูงถึงประมาณ 70% ดังนั้นอย่าถอดใจหรือสับสนที่จะต้องเปลี่ยนยาไปมา เมื่อถึงเวลาทุกอย่างจะดีขึ้น
ใช้ยาตามที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
สร้างความคุ้นชินในการกินยารักษาโรคซึมเศร้าให้เป็นเวลา จะช่วยให้จำง่ายขึ้นหากคุณรวมการกินยาไว้กับกิจกรรมอื่น ๆ จนเป็นนิสัย เช่น การกำหนดว่าจะกินยาหลังจากแปรงฟัน ก่อนอาหารเช้า หรือก่อนนอน และใช้กล่องยารายอาทิตย์เป็นตัวช่วยเพื่อตรวจสอบว่าคุณพลาดยาของวันใหนไปหรือไม่
อย่าหยุดยาด้วยตนเอง
อย่าคิดว่าไม่เป็นไรในการหยุดยาโรคซึมเศร้าด้วยตนเอง เมื่อคิดว่ามีอาการดีขึ้นหรือหายขาดแล้ว เพราะยาบางชนิดทางการแพทย์ จำเป็นที่จะต้องค่อย ๆ ลดปริมาณยาที่ได้รับลงก่อนหยุดยาถาวร การหยุดยาอย่างกะทันหันอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง หรือมีภาวะซึมเศร้ากลับคืนมา โปรดจำไว้เสมอว่าถ้าคุณรู้สึกดีขึ้นเพราะยา จะรีบหยุดมันทำไม ให้แพทย์เป็นคนประเมินและบอกช่วงเวลาที่เหมาะสมดีกว่านะ
เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิต
เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณสามารถทำด้วยตนเองเพื่อส่งเสริมการรักษาอาการโรคซึมเศร้า โดยอาจจะเริ่มจากสิ่งง่าย ๆ เช่นการดูแลตัวเองให้มากขึ้น กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ผักและผลไม้ ลดน้ำตาลและไขมัน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มมึนเมาและสารเสพติด ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าเข้ามาแทรกแซงและกระทบต่อการใช้ยารักษา นอนหลับให้เพียงพอและเริ่มต้นขยับร่างกาย ออกกำลังกาย โดยอาจจะเริ่มที่การเดินเล่นกับเพื่อนในละแวกบ้านก็ได้
ลดและหลีกเลี่ยงความเครียด ไม่ว่าจะจากที่บ้านหรือที่ทำงาน
ขอความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นต้นเหตุของความตึงเครียดและโรคซึมเศร้าในชีวิต ลองพูดคุย แลกเปลี่ยนหรือ ขอให้พวกเขาช่วยดูแลความยุ่งยากในชีวิตประจำวันชั่วคราว และหากคุณได้รับความเครียดจากงานมาก อาจต้องลองลดสเกลและจัดการงานที่รับผิดชอบลงเล็กน้อย
ซื่อสัตย์และเปิดใจให้กับการรักษา
การเปิดใจรับการรักษาโรคซึมเศร้าและนักบำบัดโรคหรือจิตแพทย์อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากคุณไม่พูดความจริง ก็เป็นเรื่องยากที่จะมีใครเข้ามาช่วยรักษาอาการที่คุณเป็นอยู่ได้ หากคุณสงสัยหรือเคลือบแคลงเกี่ยวกับวิธีรักษา คุณมีสิทธิที่จะถามอยู่เสมอ อย่าพยายามอดทนและเก็บมันไว้ ยิ่งเปิดเผยมากเท่าใหร่มันก็จะยิ่งง่ายกับการทำงานร่วมกัน ค้นหาแนวทางใหม่ ในการรักษา และพัฒนาให้มีประสิทธิภาพกับโรคของคุณมากขึ้น
เปิดกว้างกับแนวคิดใหม่ ๆ
คุณอาจได้รับคำปรึกษาหรือแนวทางแปลก ๆ จากจิตแพทย์หรือนักบำบัดของคุณในการรักษาโรคซึมเศร้า พวกเขาอาจจะผลักดันให้คุณทำสิ่งที่รู้สึกอึดอัดใจในบางครั้ง แต่หากคุณลองและพยายามที่เปิดกว้าง คุณอาจจะพบประโยชน์ของมันมากกว่าที่คิด
อย่ายอมแพ้
ในขณะนี้คุณอาจจะรู้สึกสิ้นหวังจากโรคซึมเศร้า อาจจะกำลังรู้สึกว่าทุกอย่างมืดแปดด้าน และไม่ว่าจะทำอย่างไรมันก็ไม่ดีขึ้น เตือนตัวเองไว้เสมอว่ามันเป็นหนึ่งในอาการของโรคของคุณ ให้เวลากับตัวเอง อย่าเพิ่งหมดหวัง และปล่อยให้ยาและการรักษาต่าง ๆ ของคุณทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ถึงโรคซึมเศร้าและภาวะซึมเศร้าจะเป็นอะไรที่รับมือได้ยากและหาคนเข้าใจอย่างถ่องแท้ได้น้อยเหลือเกิน แต่ขอให้คุณอย่าท้อและหมั่นพูดคุยกับนักบำบัดหรือจิตแพทย์เพื่อหาหนทางรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมกับตัวเองที่สุด ซึ่งจะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นอีกครั้งในเวลาที่เหมาะสมแน่นอน
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.webmd.com
ภาพประกอบจาก : www.pixabay.com