สุขภาพเต้านม เรื่องสำคัญสำหรับผู้หญิง
การดูแลเต้านมของสาว ๆ ให้มีสุขภาพดี โดยเฉพาะการตรวจหาความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมตั้งแต่ต้นเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ลักษณะของเต้านมไม่ได้เหมือนกันตลอดเวลา บางครั้งการสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงอาจทำให้หลาย ๆ คนเข้าใจผิด เกิดความกังวลมากเกินไป ในทางกลับกัน การเปลี่ยนแปลงของเต้านมบางอย่าง กลับเป็นสัญญาณเตือนถึงอันตราย การตื่นตัวให้ความสำคัญและรีบไปพบแพทย์จึงเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้น การรู้จักเต้านมมากขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ
เต้านมแบบไหนปกติ…แบบไหนที่ผิดปกติ
จากการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเต้านม อาจทำให้คุณกังวลได้ แต่บางครั้งสิ่งที่คุณกังวลกลับเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นกับเต้านมของทุกคน ตัวอย่างเช่น
- เต้านมของคุณมีขนาดแตกต่างกันเล็กน้อย
- เต้านมข้างหนึ่งห้อยต่ำกว่าอีกข้างหนึ่งเล็กน้อย
- มีขนรอบหัวนมของคุณ
- คุณรู้สึกเจ็บเต้านม หรือรู้สึกว่าเต้านมนิ่มขึ้น ช่วงก่อนและระหว่างช่วงเวลาการมีประจำเดือน
แต่เมื่อใดก็ตาม ที่คุณสังเกตเต้านมของคุณมีอาการ หรือการเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้ เป็นสิ่งจำเป็นที่คุณควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ชัดทันที
- เต้านมมีก้อนแข็งที่คุณไม่เคยรู้สึกมาก่อน
- มีอาการบวมบริเวณหน้าอก บริเวณกระดูกไหปลาร้า หรือรักแร้
- ผิวหนังแห้ง แตกออกเป็นผื่นแดง หรือผิวหนังหนาขึ้น เหมือนเปลือกส้ม บริเวณรอบ ๆ หัวนม
- เลือด หรือของเหลวอื่น ๆ ที่ไม่ใช่น้ำนมไหลออกจากหัวนม
- มีอาการคันที่หน้าอก
- หัวนมจมเข้าไปในเต้า โดยก่อนหน้าหัวนมยื่นออกเป็นปกติ
ทั้งนี้อาการดังที่กล่าวมา ไม่ได้หมายถึงว่าต้องเป็นอาการที่เป็นอันตรายแต่อย่างเดียว ในความเป็นจริงมันอาจจะเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ไม่ต้องทำอะไรมาก เช่น คันระคายเคืองจากเนื้อผ้า หรือความรัดของเสื้อที่สวม หรือจากการติดเชื้อบางชนิดที่พบได้ทั่วไป จนกระทั่งถึงเรื่องของมะเร็งเต้านม ซึ่งต้องพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อวางแผนการรักษาอย่างรีบด่วน
รู้ความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม
พฤติกรรมการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือเคยเลือกใช้ยาคุมกำเนิด รวมถึงครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านมมาก่อน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งเมื่อคุณเข้าพบแพทย์ ควรจะแจ้งให้แพทย์ทราบถึงปัจจัยเสี่ยงด้วยทุกครั้ง
เต้านมมีการเปลี่ยนแปลง ในขณะตั้งครรภ์และช่วงให้นม
โดยธรรมชาติของคุณแม่ตั้งครรภ์ จะมีเต้านมขนาดใหญ่และมีความนุ่มมาก ส่วนบริเวณหัวนมจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ มองเห็นเส้นเลือดชัดมาก ขณะที่เนื้อเยื่อเต้านมจะเป็นก้อนคลำได้ ช่วงเวลานี้ซีสต์ หรือถุงน้ำ และเนื้องอกอาจเกิดขึ้นได้ โดยส่วนใหญ่ไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็ง อย่างไรก็ดี หากคุณมีอาการผิดปกติ หรือไม่แน่ชัดกับอาการ ควรปรึกษาแพทย์ทันที
เต้านมมีการเปลี่ยนแปลงในวัย 40 อัพ
ในวัย 40 อัพ ต่อมน้ำนมจะลดขนาดลง และอาจถูกแทนที่ด้วยชั้นไขมันใต้ผิวหนังซึ่งอาจทำให้ขนาดของเต้านมเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ วัยที่เพิ่มขึ้นความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อย โดยมีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี หรือผู้หญิงที่ประจำเดือนหมดล่าช้าหลังอายุ 55 ปี ดังนั้น คุณควรปรึกษาและเข้าพบแพทย์ เพื่อตรวจคัดกรองแมมโมแกรม (Mammogram) ซึ่งเป็นการตรวจหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น ในขณะที่ยังไม่แสดงอาการโดยผู้หญิงวัยตั้งแต่ 45 – 74 ปี ควรตรวจทุก 1 – 2 ปี
การมีนิสัยที่ดีต่อสุขภาพ เป็นสิ่งจำเป็นในทุกช่วงอายุ
คุณสามารถลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมได้ หากคุณลดการดื่มแอลกอฮอล์ให้เหลือไม่เกินวันละแก้ว หรือหากคุณยังมีนิสัยสูบบุหรี่ก็ให้เลิกสูบทันที และรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสมกับวัยและอายุ และที่สำคัญ คือ ต้องออกกำลังกายในระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ รวมถึงการรับประทานผักและผลไม้ ซึ่งให้วิตามินและเกลือแร่อย่างสม่ำเสมอ
มันไม่เร็วเกินไป ที่จะเริ่มคิดถึงวิธีการดูแลเต้านมให้มีสุขภาพดีได้ตลอดทั้งชีวิต และมันก็ไม่เคยสายเกินไปที่จะทำการเปลี่ยนแปลงดี ๆ ให้เกิดขึ้น
เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูล: www.webmd.com
ภาพประกอบ: www.shutterstock.com