เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับอุณหภูมิร่างกาย
ความดันโลหิต (Blood pressure) อัตราการเต้นของหัวใจ (Heart rate) อัตราการหายใจ (Respiratory rate) และอุณหภูมิของร่างกาย (Body temperature) ถือเป็น 4 สัญญาณชีพหลักของมนุษย์
อุณหภูมิร่างกายของผู้ใหญ่ปกติ วัดทางปาก คือ 37 +/- 0.5 องศาเซลเซียส เมื่อตัวร้อนขึ้นหมายถึง เราอาจมีไข้ และเมื่อตัวเย็นลง อาจเป็นอาการของความดันต่ำ หน้ามืด เป็นลมอ่อนเพลีย หรือขาดน้ำ แต่มีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอุณหภูมิร่างกายอีกหลายข้อ ที่อาจเป็นประโยชน์ในยามฉุกเฉินได้
- ร่างกายสามารถปรับอุณหภูมิเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ โดยจะร้อนขึ้นเมื่อออกกำลังกาย และเย็นลงในตอนกลางคืน หากวัดอุณหภูมิ จะพบว่าช่วงตื่นนอนอุณหภูมิจะต่ำกว่าช่วงบ่ายๆ เป็นต้น ถ้าคืนไหนหลับยาก ลองปรับอุณหภูมิให้เย็นขึ้น คุณอาจหลับได้ง่ายกว่าเดิม
- อุณหภูมิร่างกายของเด็กทารกจะสูงกว่าผู้ใหญ่ เพราะทารกมีเหงื่อออกน้อยกว่า และทารกมักเป็นไข้บ่อยกว่าผู้ใหญ่
- อาการไข้ คือ ภาวะที่อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ปกติไข้มักหายได้เองภายใน 2 – 3 วัน แต่หากไม่หาย อาจเป็นได้ว่ามีโรคอื่น ๆ ซ่อนอยู่ ผู้ใหญ่ที่มีไข้เกิน 39.4 องศาเซลเซียส ถือว่าอันตราย ควรไปพบแพทย์โดยด่วน แต่สำหรับทารกและเด็กเล็ก อุณหภูมิร่างกายสูงผิดปกติเพียงเล็กน้อย ควรรีบไปพบกุมารแพทย์ทันที
- อย่างไรก็ตาม การเป็นไข้ต่ำ ๆ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกที่ดีว่าร่างกายกำลังต่อสู้กับเชื้อโรค หมายถึงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย กำลังทำงานเพื่อต่อต้านการอักเสบหรือติดเชื้อ
- ยาหลายชนิดที่ซื้อได้ตามร้านขายยา อาจช่วยลดอาการไข้ลงได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเมื่อจะใช้กับเด็ก
- อาการที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีไข้ มีดังต่อไปนี้ หนาวสั่น ปากแห้งอ่อนเพลีย ปวดศรีษะ ไม่อยากกินอาหาร ปวดกล้ามเนื้อ และเหงื่อแตก หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปเองใน 2 – 3 วันให้รีบไปพบแพทย์
- เด็กที่อายุ 6 เดือนถึง 5 ขวบอาจเกิดอาการชักได้เมื่อมีไข้สูง ต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายลงทันที และค้นหาสาเหตุของไข้เพื่อรักษาต่อไป
- นอกจากความเจ็บป่วยแล้ว อุณหภูมิร่างกายของเราจะเปลี่ยนไปเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้นอาการไข้ของผู้สูงอายุ อาจเกิดได้แม้ในอุณหภูมิร่างกายที่ต่ำกว่าคนอายุน้อย
- การกินอาหารเผ็ด ๆ เช่น พริกอาจทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นได้ในขณะย่อยอาหาร
- ในขณะสูบบุหรี่ อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้น เพราะความร้อนจากบุหรี่ที่สูบเข้าไป ผลที่ตามมาคือปอดร้อนขึ้น ทำให้การทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์
- เมื่อเราโกหก อุณหภูมิของร่างกายจะสูงขึ้น โดยเฉพาะส่วนจมูก เรียกอาการนี้ว่า “Pinocchio effect” สาเหตุเกิดจากความวิตกกังวลที่ซ่อนเร้นอยู่ จึงมีวิธีจับเท็จชนิดใช้กล้องถ่ายภาพความร้อนของร่างกาย
- อุณหภูมิร่างกายสามารถบ่งบอกเวลาเสียชีวิตได้ เมื่อเสียชีวิต อุณหภูมิร่างกายจะลดลงเรื่อย ๆ ในอัตราระดับหนึ่ง โดยแพทย์จะใช้หลักข้อนี้เพื่อประกอบการบ่งบอกเวลาเสียชีวิตด้วย
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอุณหภูมิร่างกายที่กล่าวมาคือข้อควรจำ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ได้ในยามคับขันเพื่อตัดสินใจเบื้องต้นว่าจะรีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลหรือไม่ เพื่อให้แพทย์ทำการรักษาอย่างทันท่วงทีก่อนที่จะสายเกินไป
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.everydayhealth.com
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com