ระบบย่อยอาหาร (Digestive system)
ระบบย่อยอาหาร (Digestive system) เป็นระบบที่รวมอวัยวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการรับอาหาร การย่อยโดยแปรรูปอาหารให้เป็นสารอาหารที่จำเป็น และการดูดซึมสารอาหารเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงการกำจัดเอากากอาหารที่ร่างกายไม่ใช้ออกจากร่างกาย ข้อมูลจาก American Society of Gastrointestinal Endoscopy (ASGE) กล่าวว่าระบบทั้งหมดนี้มีความยาวประมาณ 30 ฟุต (9 เมตร)
อวัยวะที่เกี่ยวข้อง
ระบบย่อยอาหารประกอบด้วยอวัยวะหลัก ๆ ดังนี้
- ปาก (Mouth) ในช่องปากประกอบด้วย 3 อวัยวะหลัก คือ
- ฟัน (Teeth) ทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหารที่รับประทานให้เล็กลง โดยมนุษย์จะมีฟัน 2 ชุด ชุดแรก คือ ฟันน้ำนม มี 20 ซี่ ส่วนชุดที่ 2 คือ ฟันแท้มี 32 ซี่ แบ่งเป็นฟันบนข้างละ 8 ซี่ ฟันล่างข้างละ 8 ซี่ แต่ละข้างแบ่งเป็น ฟันตัด 2 ซี่ ฟันเขี้ยว 1 ซี่ ฟันหน้ากราม 2 ซี่ และฟันกราม 3 ซี่ เรียงตามลำดับจากหน้าไปหลัง
- น้ำลาย (Saliva) ถูกผลิตจากต่อมน้ำลาย (Salivary gland) โดยน้ำลายนั้นจะมีเอนไซม์อะไมเลส (Amylase) หรือไทยาลีน (Ptyalin) ช่วยย่อยคาร์โบไฮเดรตหรือแป้งให้มีขนาดเล็ก นอกจากนี้น้ำลายยังช่วยให้อาหารอ่อนตัว เพื่อกลืนอาหารได้ง่ายขึ้น
- ลิ้น (Tongue) ทำหน้าที่รับรสอาหาร เกลี่ยอาหารเพื่อให้ฟันบด คลุกเคล้าอาหารเพื่อสะดวกในการกลืน ประกอบด้วยกล้ามเนื้อโครงร่างขนาดใหญ่ ที่พื้นผิวปกคลุมไปด้วยปุ่มรับรส (Taste bud) ซึ่งสามารถรับรสได้แตกต่างกันตามตำแหน่งของลิ้น
- คอหอย (Pharynx) อยู่หน้ากระดูกสันหลังส่วนคอ เป็นทางผ่านของอาหารจากปากไปยังหลอดอาหาร โดยระหว่างการกลืน ขณะที่อาหารผ่านคอหอย หลอดลมจะปิดเพื่อไม่ให้อาหารไหลเข้าไป บริเวณนี้ไม่มีการย่อยเกิดขึ้น
- หลอดอาหาร (Esophagus) มีทั้งส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อลายและส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อเรียบ ทำหน้าที่รับอาหารจากคอหอยและส่งต่อไปยังกระเพาะอาหาร โดยการบีบรัดกล้ามเนื้อหลอดอาหารในลักษณะของการหดและคลายกล้ามเนื้อเป็นจังหวะ ๆ เรียกการบีบตัวแบบเพอริสตัลซิส (Peristalsis)
- กระเพาะอาหาร (Stomach) อยู่ระหว่างปลายของหลอดอาหารกับส่วนต้นของลำไส้เล็ก มีลักษณะคล้ายถุงมีผนังกล้ามเนื้อเป็นลูกคลื่น มีความแข็งแรง เป็นที่รองรับ คลุกเคล้าอาหาร และหลั่งน้ำย่อยประเภทโปรตีนซึ่งจะทำให้อาหารกลายเป็นของเหลวเหนียว ๆ แล้วส่งต่อไปยังลำไส้เล็ก บริเวณที่เชื่อมต่อกับหลอดอาหารจะมีหูรูดป้องกันน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลขึ้นหลอดอาหาร ขณะที่บริเวณเชื่อมต่อกับลำไส้เล็กจะมีหูรูดเพื่อป้องกันไม่ให้อาหารไหลเข้าสู่ลำไส้เล็กเร็วเกินไป
- ลำไส้เล็ก (Small intestine) มีลักษณะคล้ายท่อกลวงขดไปมาในช่องท้อง แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ลำไส้เล็กส่วนต้นที่เรียกว่าดูโอดีนัม (Duodenum) ส่วนกลางที่เรียกว่าเจจูนัม (Jejunum) และส่วนปลายที่เรียกว่าไอเลียม (Illeum) เป็นบริเวณที่มีการย่อยและดูดซึมสารอาหารมากที่สุด บริเวณลำไส้เล็กจะมีเอนไซม์จากตับอ่อน (Pancreas) มาช่วยย่อยสารอาหารประเภทโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต รวมถึงน้ำดีจากตับ (Liver) ที่ช่วยย่อยไขมันและกำจัดของเสียในเลือด
- ลำไส้ใหญ่ (Large intestine) ประกอบด้วย 3 ส่วน เริ่มจากส่วนที่เรียกว่าซีคัม (Caecum) ซึ่งมีส่วนของไส้ติ่ง (Appendix) ยื่นออกมา ส่วนโคลอน (Colon) เป็นลำไส้ใหญ่ส่วนที่ยาวที่สุด มีหน้าที่ดูดซึมน้ำและวิตามินบางชนิด รวมถึงการขับกากอาหารให้เข้าสู่ลำไส้ใหญ่ส่วนที่เรียกว่าไส้ตรง (Rectum) เพื่อรอขับถ่ายผ่านทางทวารหนัก (Anus) ต่อไป
นอกจากนี้ระบบย่อยอาหารยังมีอวัยวะที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
- ต่อมน้ำลาย (Salivary gland) มี 3 คู่ คือ ต่อมข้างกกหู ถ้าอักเสบจะมีอาการ บวมแดง เรียก คางทูม ต่อมใต้ขากรรไกรและต่อมใต้ลิ้น ผลิตน้ำลายลักษณะต่าง ๆ เปิดเข้าสู่ปาก
- ตับ (Liver) เป็นอวัยวะภายในที่มีหน้าที่สำคัญในขบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism) ของร่างกาย เช่น การควบคุมปริมาณน้ำตาลกลูโคส (Glucose) โดยเซลล์ตับจะเก็บไว้ในรูปของไกลโคเจน (Glycogen) การสลายเซลล์เม็ดเลือดแดง (Red blood cell) การสังเคราะห์พลาสมาโปรตีน การผลิตฮอร์โมน (Hormones) และการกำจัดสารพิษ และที่สำคัญ ตับยังเป็นต่อมช่วยย่อยอาหาร โดยผลิตน้ำดี (Bile) ส่งเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนดูโอดีนัม เพื่อย่อยอาหารประเภทไขมัน
- ตับอ่อน (Pancreas) เป็นอวัยวะที่จัดอยู่ในระบบย่อยอาหารและระบบต่อมไร้ท่อ โดยในระบบย่อยอาหารนั้นตับอ่อนจะสร้างน้ำย่อยที่มีเอนไซม์หลายชนิด เพื่อทำหน้าที่ย่อยคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน โดยเอนไซม์เหล่านี้จะถูกหลั่งออกมาและรวมเข้ากับน้ำดีจากถุงน้ำดี ก่อนที่จะเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนดูโอดีนัม นอกจากนี้ในระบบต่อมไร้ท่อ ตับอ่อนยังมีการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) โดยฮอร์โมนทั้งสองตัวมีผลในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- ถุงน้ำดี (Gallbladder) เป็นอวัยวะในช่องท้องเพื่อเก็บสะสมน้ำดี (bile) ที่ผลิตจากตับ โดยจะส่งน้ำดีผ่านท่อถุงน้ำดี เข้าท่อน้ำดีตับ ท่อน้ำดีใหญ่ ท่อตับอ่อน ก่อนเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนดูโอดีนัม ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการปล่อยน้ำดีออกสู่ทางเดินอาหาร
การทำงานของระบบย่อยอาหาร
การย่อยอาหารมี 2 ขั้นตอน
- การย่อยเชิงกล (Mechanical digestion) เป็นกระบวนการทำให้อาหารมีขนาดเล็กลง เพื่อสะดวกต่อการเคลื่อนที่และการเกิดปฏิกิริยาเคมี โดยการบดเคี้ยว รวมทั้งการบีบตัวของทางเดินอาหาร ทั้งนี้ในการย่อยเชิงกล โมเลกุลของอาหารยังไม่เล็กมากพอที่ร่างกายจะดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้
- การย่อยทางเคมี (Chemical digestion) เป็นการย่อยโมเลกุลของอาหาร ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ให้มีขนาดเล็กมากพอที่ร่างกายจะดูดซึมเอาไปใช้ได้ โดยการย่อยในขั้นตอนนี้ จะเกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่างโมเลกุลของอาหารกับน้ำ โดยมีเอนไซม์หรือน้ำย่อยเข้าเร่งปฏิกิริยา ส่วนเกลือแร่ และวิตามินจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้โดยตรง
เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป อาหารจะถูกย่อยเชิงกลโดยฟัน และอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตจะถูกย่อยทางเคมีโดยเอนไซม์อะไมเลส (Amylase) จากน้ำลาย ได้เป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ อาหารในขั้นตอนนี้จะถูกกลืนผ่านคอหอยกลายเป็นอาหารรูปทรงกลมเล็ก ๆ ผ่านการบีบและคลายตัวของกล้ามเนื้อหลอดอาหารเข้าสู่กระเพาะอาหาร ที่กระเพาะอาหาร เอนไซม์เพปซิน (Pepsin) จะย่อยโปรตีนให้เป็นเพปไทด์ (Peptide) และเอนไซม์เรนนิน (Rennin) จะเปลี่ยนโปรตีนในน้ำนมให้อยู่ในรูปที่เอนไซม์เพปซินสามารถย่อยได้ การดูดซึมที่กระเพาะอาหารจะมีไม่มาก แต่แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมได้ดี หลังจากผ่านไป 1 – 2 ชั่วโมง อาหารที่ผ่านการย่อยจากกระเพาะอาหารซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวข้นหนืด (Chyme) จะไหลเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนดูโอดีนัม ที่ซึ่งจะมีเอนไซม์สำหรับย่อยอาหารจากตับอ่อนและน้ำดี รวมถึงน้ำย่อยจากลำไส้เล็กเอง ย่อยโมเลกุลของอาหารให้เป็นสารอาหารที่มีโมเลกุลเล็ก พอที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ โดยโปรตีนจากกระเพาะอาหารจะถูกย่อยเป็นกรดอะมิโน (Amino acids) คาร์โบไฮเดรตจะถูกย่อยต่อให้เป็นเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ได้แก่ น้ำตาลกลูโคส (Glucose) น้ำตาลฟรุกโตส (Fructose) และน้ำตาลกาแลคโตส (Galactose) และไขมันจะถูกย่อยเป็นไขมันโมเลกุลเดี่ยว ได้แก่ กรดไขมัน (Fatty acid) และกรีเซอรอล (Glycerol)
สารอาหารที่ได้จากการย่อยจะถูกดูดซึมจะเข้าสู่กระแสเลือด และส่งต่อไปยังตับ โดยตับจะนำสารอาหารดังกล่าวไปปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้งานของร่างกาย เช่น นำกรดอะมิโนไปสร้างโปรตีนเม็ดเลือดไปสร้างโปรตีนให้เลือดแข็งตัว สร้างน้ำเหลือง รวมถึงการเก็บสะสมและนำสารอาหารออกมาใช้เมื่อร่างกายต้องการ เช่น เปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสเป็นไกลโคเจน และเปลี่ยนกลับเป็นกลูโคสอีกครั้งเมื่อร่างกายต้องการพลังงาน นอกจากนี้ตับยังเป็นที่เก็บของวิตามิน A D E K ควบคุมสมดุลของฮอร์โมนต่าง ๆ รวมถึงการกำจัดของเสียอีกด้วย ในส่วนของการย่อยอาหาร ของเหลือจากการดูดซึมจะผ่านเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งจะมีการดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ร่างกาย และส่งส่วนที่เหลือออกมาเป็นอุจจาระต่อไป
โรคระบบย่อยอาหารที่พบบ่อย
โรคกระเพาะอาหาร โรคลำไส้แปรปรวน โรคกรดไหลย้อน โรคท้องร่วง โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคไขมันพอกตับ ตับอ่อนอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ
โรคกระเพาะอาหาร สาเหตุหลักเกิดจากการเสียสมดุลของกรดที่หลั่งออกมา ทำให้เกิดการทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร ปัจจัยที่เกี่ยวข้องเกี่ยวเนื่องกับไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต เช่น การตื่น การทำงาน การนอน ความเครียดความกังวล และพฤติกรรมการรับประทานอาหาร รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพอื่น ๆ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดด้วย
โรคลำไส้แปรปรวน เป็นโรคเกี่ยวกับการทำงานผิดปกติของระบบทางเดินอาหารโดยเฉพาะลำไส้ โดยไม่พบความผิดปกติที่โครงสร้างและพยาธิสภาพของทางเดินอาหาร ผู้ป่วยมักจะปวดบริเวณท้องน้อย มีทั้งการปวดมากและการปวดน้อย และหลายๆครั้งมีการขับถ่ายที่ผิดปกติ จัดเป็นหนึ่งในโรคเกี่ยวกับลำไส้ที่พบได้บ่อย
โรคกรดไหลย้อน เป็นภาวะที่กรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร หรือไหลออกนอกหลอดอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร รวมถึงส่งผลเสียต่อกล่องเสียงและลำคอได้ สาเหตุเกิดจากการทำงานบกพร่องของหูรูดกั้นหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร รวมถึงการบีบตัวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร พบได้มากในคนอ้วน และคนสูบบุหรี่
โรคท้องร่วง เป็นหนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาหารเป็นพิษ การติดเชื้อจากแบคทีเรียและไวรัส รวมถึงปาราสิตบางประเภท กรณีเป็นแบบไม่รุนแรง มีอาการท้องร่วงและเสียน้ำไม่มาก ร่างกายจะปรับตัวโดยดึงเอาน้ำจากเนื้อเยื่อเข้าไปชดเชยได้ ยกเว้นท้องร่วงในเด็กหรือคนชรา รวมถึงการเป็นแบบรุนแรงที่มีการเสียน้ำมาก โรคนี้อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้
โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากพบการระบาดของเชื้อได้บ่อย โดยเมื่อติดเชื้อแล้วจะทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ตับ และเซลล์ตับถูกทำลาย หากเป็นเรื้อรังจะเกิดพังผืด ทำให้ตับแข็ง และมะเร็งตับได้ จากหลักฐานการศึกษาบ่งชี้ว่าการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในการเกิดมะเร็งตับ ซึ่งเป็นโรคมะเร็งที่พบมากในคนไทย
โรคไขมันพอกตับ เป็นภาวะที่ไขมันไปอยู่ในเซลล์ตับจำนวนมากจนทำให้เซลล์ตับเกิดการอักเสบ หรือตายได้ ภาวะนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ การดื่มสุรา การมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin) หรือมีโรคที่เกี่ยวกับเมตาบอลิก อาทิ โรคอ้วน โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อาการที่พบ เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ผิวเหลือง ในบางรายอาจมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง
ตับอ่อนอักเสบ เกิดขึ้นเมื่อเอนไซม์โดยเฉพาะทริปซิน (Trypsin) ซึ่งสร้างที่ตับอ่อนและไปออกฤทธิ์ในการย่อยโปรตีนที่ลำไส้เล็ก ถูกกระตุ้นให้ทำงาน จึงเกิดการย่อยเซลล์ของตับอ่อนเอง จนเกิดอาการอักเสบ กรณีที่เป็นเรื้อรังโดยสาเหตุไม่ได้ถูกแก้ไข เซลล์ของตับอ่อนจะค่อย ๆ ถูกทำลายจนไม่สามารถฟื้นตัวได้ ทำให้เกิดปัญหาในการสร้างน้ำย่อยและฮอร์โมนที่จำเป็น
ถุงน้ำดีอักเสบ มีหลายสาเหตุที่ทำให้ถุงน้ำดีอักเสบได้ เช่น ติดเชื้อ ท่อน้ำดีอุดตัน นิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งจะส่งผลให้ถุงน้ำดีบวม อักเสบ และเกิดอาการปวด ผู้ป่วยอาจมีไข้ เจ็บหลังจากทานข้าว คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด เป็นต้น
เรียบเรียงข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.livescience.com www.niddk.nih.gov th.wikipedia.org
ภาพประกอบจาก : www.shutterstock.com