อาการ และอาการแสดง
อาการ (Symptom) หลาย ๆ คนอาจสับสนกับคำว่าอาการ เพราะมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยในทางการแพทย์จะมีความหมายของอาการ (Symptom) กับอาการแสดง (Sign) ที่แตกต่างกัน
อาการ (Symptom)
เป็นความผิดปกติที่ผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ชิดรู้สึกหรือตรวจพบ เป็นลักษณะ subjective คือความรู้สึกแห่งตน เช่น ความรู้สึกปวด คัน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร แสบอก ฯลฯ ที่ผู้ป่วยรู้สึกได้คนเดียว หรือเป็นอาการ ไอ อาเจียน บวม ตาแดง ตาเหลือง เดือนเซ ฯลฯ ที่คนอื่น ๆ ก็สามารถมองเห็นได้ หรืออาจเป็นอาการที่ตัวผู้ป่วยเองก็ไม่รู้สึกผิดปกติ แต่ผู้ใกล้ชิดรู้สึก เช่น นอนกรน สับสน พฤติกรรมเปลี่ยน เป็นต้น
อาการแสดง (Sign)
เป็นความผิดปกติที่แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ตรวจพบ เป็นลักษณะ Objective คือ เชิงวัตถุวิสัย ซึ่งเป็นหลักฐานการปรากฏของโรค ไม่ใช่จากความรู้สึกของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยมีไข้มาพบแพทย์ ไข้ที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ คือ อาการ (Symptom) ต่อมามีการวัดปรอทพบอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.8 0C การขึ้นสูงของอุณหภูมิ คือ อาการแสดง (Sign) โดยปกติแล้วอาการแสดงจะเป็นการตอบสนองของร่างกายที่บ่งชี้ถึงพยาธิสภาพต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเมื่อแพทย์ประเมินอาการที่ผู้ป่วยเล่าให้ฟัง ร่วมกันกับอาการแสดงที่ได้ตรวจพบ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวินิจฉัยภาวะความผิดปกติของร่างกายผู้ป่วยที่มาพบ
อย่างไรก็ตาม อาการกับอาการแสดง อาจเหมือนกันได้ เช่น ไอ เป็นได้ทั้ง อาการและอาการแสดง เป็นต้น ดังนั้น อาการและอาการแสดงจึงมีความใกล้เคียงสัมพันธ์กัน ทางการแพทย์จึงมักใช้ 2 คำนี้ควบคู่กันเสมอ เช่น อาการและอาการแสดงของผู้ป่วย คือ ปวดท้อง และกดเจ็บตรงตำแหน่งช่องท้องด้านขวาล่าง เป็นต้น
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.mutualselfcare.org th.wikipedia.org
ภาพประกอบจาก : www.diversame.com