ปวดหลัง (Back pain)
อาการปวดหลัง (Back pain) แบ่งเป็น 2 แบบ อาจพบเพียงแบบใดแบบหนึ่ง หรือ พบร่วมกันก็ได้
- ปวดเฉพาะบริเวณแผ่นหลังหรือสะโพก (ก้น)
- ปวดร้าวลงขา (น่อง เท้า) ขาชา ขาอ่อนแรง ซึ่งเกิดจากการกดทับเส้นประสาท
สาเหตุที่ทำให้ปวดหลัง
1. ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ความผิดปกติของกระดูกสันหลังตั้งแต่กำเนิด อาจทำให้เกิดอาการปวดหลังตั้งแต่วัยเด็ก หรืออาจจะมาแสดงอาการในขณะที่อายุมากแล้วก็ได้ ซึ่งเป็นเพราะความเสื่อมสภาพที่เกิดขึ้นในภายหลัง โรคที่พบบ่อยในกลุ่มนี้ได้แก่ โรคกระดูกสันหลังคด ซึ่งสามารถสังเกตได้ง่ายจากมี หลังเอียง หลังคด กระดูกสะบักสองข้างสูงไม่เท่ากัน หน้าอกสองข้างนูนไม่เท่ากัน
การรักษาโรคหลังคดมีรายละเอียดมาก ขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่เป็น อายุของผู้ป่วย เช่น การออกกำลังกายกล้ามเนื้อใส่เฝือกหลังผ่าตัดกระดูกสันหลัง การเลือกวิธีรักษาจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน
2. การใช้งานหลังไม่เหมาะสม เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้บ่อยที่สุด แบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือ
2.1 อาการปวดหลังจากกล้ามเนื้อ จะมีอาการปวด หลังแข็งเกร็ง ขยับเขยื้อนหลังไม่ได้ อาจมีอาการตัวเอียง เดินลำบาก
- กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น อักเสบ จากท่าทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่ได้ออกกำลังกาย หรืออ้วน มักจะเป็นเรื้อรัง เป็นๆหายๆ
- กล้ามเนื้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด จากการเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกต้อง หรือ อุบัติเหตุ มักจะเป็นเฉียบพลันทันที
- พังผืดยึดกล้ามเนื้อหรือเส้นประสาท จะมีจุดกดเจ็บชัดเจนที่หลังหรือสะโพก และอาจมีร้าวลงขาร่วมด้วย
2.2 หมอนรองกระดูกส่วนเอวกดทับเส้นประสาท หมอนรองกระดูก เป็นตัวทำให้เกิดความยืดหยุ่นของกระดูกสันหลัง และให้ความมั่นคงแข็งแรงกับสันหลัง เมื่ออายุมากขึ้น ส่วนประกอบที่เป็นน้ำภายในหมอนรองกระดูกจะลดลง ทำให้ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นลดลง ถ้ามีแรงมากระทำต่อหมอนรองกระดูกในลักษณะเฉียง ๆ (ซึ่งมักจะเกิดในท่าก้มลงยกของหนัก) จะทำให้หมอนรองกระดูกแตก ทำให้ปวดหลัง แต่ถ้าหมอนรองกระดูกที่แตกไปกดทับเส้นประสาท จะทาให้เกิดอาการปวดหลัง ร่วมกับมีอาการปวดร้าวไปที่ขา ขาชา หรือขาอ่อนแรง ร่วมด้วย
3. การติดเชื้อ การติดเชื้อที่กระดูกสันหลังส่วนเอว มีสาเหตุคือเชื้อแบคทีเรียกระจายมาตามกระแสเลือดแล้วไปที่กระดูกสันหลัง ทำให้มีไข้ขึ้น และมีอาการปวดหลังอย่างรุนแรง แต่ถ้าเป็นเชื้อวัณโรค ซึ่งอาการจะค่อยเป็นค่อยไป อาการปวดหลังเพิ่มขึ้นทีละน้อย มีไข้ต่ำ ๆ ในตอนบ่าย น้ำหนักลดลง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็จะทำให้หลังโก่ง อาจเป็นอัมพาตได้
4. กระดูกสันหลังเสื่อม อาจแบ่งอาการ ของกระดูกสันหลังเสื่อม เป็น
- ระยะข้อต่อหลวม ความแข็งแรงของข้อต่อกระดูกสันหลังลดลง ทำให้มีการเคลื่อนไหวของข้อต่อมากขึ้น ข้อต่อหลวม มักจะมีอาการปวดเวลาขยับตัวเปลี่ยนท่าทาง เช่น นอนแล้วลุกขึ้นลำบาก แต่ถ้าอยู่นิ่ง ๆ จะไม่ค่อยปวด
- ระยะข้อติดแข็ง กระดูกงอก ซึ่งเป็นระยะต่อมาที่ร่างกายมีกระบวนการซ่อมแซมตัวเองโดยการสร้างหินปูนมายึดเกาะข้อต่อให้แข็งแรงขึ้น อาการปวดที่เกิดขึ้นเนื่องจากข้อต่อหลวมก็จะหายไป แต่ถ้าหินปูนที่ร่างกายสร้างขึ้นมานั้นมีมากเกินไป จนกดทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวดหลังเมื่อเริ่มออกเดินไปได้สักระยะหนึ่ง อาการปวดและชาที่ขาจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องหยุดเดิน เมื่อนั่งพักอาการจะดีขึ้น ระยะทางที่เดินได้โดยไม่ปวดจะสั้นลงเรื่อย ๆ ตามความรุนแรงของโรค
5. สาเหตุอื่น เช่น ความเครียด ไต อักเสบ ปีกมดลูกอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร ปอดติดเชื้อ หัวใจขาดเลือด กระดูกแตกยุบตัวจากโรคกระดูกพรุน โรคกระดูกสันหลังยึดติด (AS) เป็นต้น
แนวทางวินิจฉัย
ส่วนใหญ่วินิจฉัยได้จากการถามประวัติและตรวจร่างกาย ไม่ต้องถ่ายภาพรังสี เอกซเรย์ ยกเว้น อาการมาก หรือ รักษาแล้วไม่ดีขึ้น แต่เอกซเรย์ทั่วไป จะเห็นเฉพาะกระดูก ไม่เห็นกล้ามเนื้อ หมอนรองกระดูก เส้นประสาท บางกรณีจึงต้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือฉีดสีเข้าสันหลัง (Myelogram)
แนวทางรักษา
- ลดน้ำหนัก งดเหล้า งดบุหรี่ ปรับเปลี่ยนท่าทางในการดำเนินชีวิตประจำวันให้เหมาะสม
- นอนพัก แต่ไม่ควรพักนานเกินกว่า 2 – 3 วัน เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อลีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ประคบด้วยความเย็นหรือความร้อน เช่น น้ำแข็งใส่ในถุงพลาสติกแล้วห่อด้วยผ้า หรือผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นประคบ 10 – 15 นาที หรือประคบร้อน 4 นาที สลับเย็น 1 นาที อาจใช้ครีมนวดร่วมด้วยได้ แต่ต้องระวังอย่านวดแรง
- ยา เช่น ยาบรรเทาปวดลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อ วิตามินบำรุงเส้นประสาท
- กายภาพบำบัด เช่น นวด ดึงหลัง อบหลัง บริหารกล้ามเนื้อ เครื่องรัดหลัง (ไม่ควรใส่นานเพราะกล้ามเนื้อจะลีบ)
- การบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้อง ให้แข็งแรง
- การผ่าตัด ถือว่าเป็นวิธีรักษาวิธีสุดท้าย เมื่อมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เช่น ปวดมากจนรบกวนต่อการดาเนินชีวิตประจาวัน และรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดแล้วไม่ดีขึ้น หรือไม่สามารถกลั้นอุจจาระ ปัสสาวะ
ข้อแนะนาในการดำเนินชีวิตประจำวัน
การนอน : เตียงนอน มีความสูงระดับข้อเข่า ที่นอนมีเนื้อแน่น คือเมื่อนอนแล้วลุกขึ้น ที่นอนจะคืนรูปดังเดิม ไม่ยุบ
ไม่ควรนอนคว่ำ
ควรนอนตะแคงกอดหมอนข้าง หรือนอนหงาย มีหมอนหนุนใต้โคนขา
การลุกจากที่นอน ให้เลื่อนตัวมาใกล้ขอบเตียง ตะแคงตัว
งอเข่าและสะโพก ห้อยขาลงข้างเตียง ใช้มือยันตัวลุกขึ้นนั่ง
การนั่ง :
เก้าอี้
• ความสูงระดับข้อเข่า ส่วนรองนั่ง มีความลึกที่จะรองรับสะโพกและต้นขาได้พอด
• พนักพิง เอนไปข้างหลังเล็กน้อย ประมาณ 10 องศา และ มีที่เท้าแขน
นั่งหลังตรงแนบกับพนักพิง ไม่ควรนั่งไขว่ห้าง นั่งชิดขอบในเก้าอี้
เท้าวางราบกับพื้นเข่างอตั้งฉาก ต้นขาวางราบกับที่นั่ง
ข้อพับเข่าอยู่ห่างจากขอบเก้าอี้ ประมาณ 1 นิ้ว อาจใช้หมอนรองหลังด้วย
นั่งขับรถ
• หลังและสะโพกแนบกับพนักพิง พนักพิงเอนไปข้างหลัง 10 องศา
• ขยับเบาะนั่งให้มีระยะพอเหมาะ (เมื่อเหยียบคันเร่งหรือเบรกเต็มที่ เข่าจะงอเล็กน้อยประมาณ 30 องศา เข่าจะสูงกว่าสะโพก)
การยืน :
หลังตรง กางขาออกเล็กน้อย น้ำหนักลงที่ส้นเท้าทั้งสองข้าง ไม่ควรสวมรองเท้าส้นสูงมากกว่า 5 นิ้ว
ถ้ายืนนาน ควรขยับเปลี่ยนท่า ยืนลงน้ำหนักบนขาข้างใดข้างหนึ่งสลับกัน หรือสลับเท้าวางบนที่สูง (ประมาณ 6 นิ้ว)
การยกของหรือวางของ :
พยายามให้หลังตรงอยู่ตลอดเวลา ไม่ควรก้มหลังในท่าที่เข่าเหยียดตรง
ยกของ : งอเข่านั่งยอง ยกของชิดลำตัว แล้วลุกยืน
หมุนตัว ดีกว่า เอี้ยว
หันหลังดัน ดีกว่า ผลักหรือดึง
วิธีบริหาร กล้ามเนื้อ หน้าท้อง สะโพกและหลัง
- เริ่มบริหาร หลังจากอาการปวด เริ่มทุเลา ในช่วงแรก ให้เริ่มบริหารเฉพาะท่าที่ 1 – 4 เท่านั้น
- ถ้าปวด พอทนได้ ค่อยเพิ่มท่าที่ 5 – 8 (ท่าที่ 1 – 8) ถ้าไม่ปวดหลัง จึงบริหารครบทั้งหมด ( ท่าที่ 1 – 13)
- ถ้าบริหารแล้วปวดมากขึ้น ให้ลดจานวนครั้ง หรือหยุดบริหารท่านั้นไว้ก่อน ไม่ควรเร่งรีบหรือทำอย่างรุนแรง
- บริหารทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 – 3 รอบ (ถ้าไม่ปวด อาจทาเพิ่มขึ้นเป็น 10 – 20 รอบ) ควรทำต่อเนื่อง 3 – 4 เดือน
1. ท่าเริ่มต้น นอนหงาย งอสะโพก งอเข่าตั้งฉาก แขนวางราบกับพื้น
2. ดึงเข่าชิดหน้าอก ทีละข้าง ค้างไว้นับ 1- 5 ทำซ้ำ 10 ครั้ง
3. ดึงเข่าสองข้างชิดหน้าอกพร้อมกัน ค้างไว้นับ 1- 5 ทำซ้ำ 10 ครั้ง
4. บิดสะโพกและเข่า ทั้งสองข้าง ซ้าย – ขวา ค้างไว้นับ 1 – 5 ทำซ้ำ 10 ครั้ง
5. ยกขา สูงที่สุด ค้างไว้นับ 1 – 5 ทำซ้ำ 10 ครั้ง
6. แอ่นหลังขึ้น มากที่สุด ค้างไว้นับ 1 – 5 ทำซ้ำ 10 ครั้ง
7. ยกหลังและสะโพกขึ้น มากที่สุด ค้างไว้นับ 1 – 5 ทำซ้ำ 10 ครั้ง
8. ยกศีรษะขึ้น เอามือแตะที่เข่า ค้างไว้นับ 1 – 5 ทำซ้ำ 10 ครั้ง
9. แอ่น – โก่งหลัง มากที่สุด ค้างไว้ นับ 1 – 5 ทำซ้ำ 10 ครั้ง
10. ยกขา ไปด้านหลัง แล้วค้างไว้นับ 1 – 5 ทำซ้ำ 10 ครั้ง
ถ้าไม่ปวด ให้ยกขา พร้อมกับยกแขนด้านตรงข้าม ไปข้างหน้า ค้างไว้นับ 1 – 5 ทำซ้ำ 10 ครั้ง
11. แอ่นหลัง เอามือดันจนศอกเหยียดตรง ค้างไว้นับ 1 – 5 ทำซ้ำ 10 ครั้ง
12. ยกขา สูงที่สุดเท่าที่จะทาได้ ค้างไว้นับ 1 – 5 ทำซ้ำ 10 ครั้ง
13. ยกศีรษะและหน้าอก สูงที่สุด ค้างไว้ นับ 1 – 5 ทำซ้ำ 10 ครั้ง
ท่าบริหารเพิ่มเติม บริหาร ท่าละ 5 – 10 ครั้ง ทำบ่อย ๆ ทุก 1- 2 ชั่วโมง
นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์
ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม สาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาพประกอบจาก : อินเทอร์เน็ต และเว็บไซต์ที่ระบุใต้รูป