ว่าด้วยเรื่องเครื่องเป่าแอลกอฮอล์
การวัดระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายมีมานานแล้ว ก่อนหน้านี้จะเป็นการวิเคราะห์หาปริมาณแอลกอฮอล์โดยใช้วิธีเก็บตัวอย่างจากเลือดหรือปัสสาวะแต่มีข้อจำกัดในเรื่องห้องปฏิบัติการและผู้ที่มีความชำนาญ รวมถึงการทราบผลช้า และปริมาณน้ำในร่างกายอาจทำให้ผลที่ได้ไม่สามารถสื่อไปถึงปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดอย่างแท้จริง
ต่อมาได้มีการนำวิธีการวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจากลมหายใจมาใช้ โดยได้มีการคิดค้นเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจขึ้น และได้พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งแบบพกพา (Mobile) และแบบประจำที่ (Stationary) และแบบเพื่อการตรวจคัดกรอง (screening) โดยแสดงผลว่าเกินหรือไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ และแบบเพื่อการตรวจยืนยันผล (Evidential) โดยแสดงผลเป็นตัวเลขในหน่วย mg/100ml เช่น 50 mg/100ml
เส้นทางเดินของแอลกอฮอล์ในร่างกาย
เมื่อเราดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์จะดูดซึมผ่านกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กเข้าสู่เลือด โดยเราสามารถตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ในเลือดภายในเวลา 5 นาที หลังสิ้นสุดการดื่มขณะท้องว่าง ระดับแอลกอฮอล์จะขึ้นสูงสุดภายในเวลา 30 – 45 นาที หลังดื่ม เนื่องจากโมเลกุลของแอลกอฮอล์มีขนาดเล็กและไม่ต้องการน้ำย่อย แอลกอฮอล์จะเคลื่อนที่ตามทิศทางเดินของเลือด โดยแอลกอฮอล์บางส่วนจะถูกทำลายโดยตับ จากนั้นเลือดจะผ่านไปทางหัวใจด้านขวา และถูกสูบฉีดไปปอด สู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แอลกอฮอล์เข้าสู่สมอง ทำให้การสั่งงานของสมองช้าลง เมื่อแอลกอฮอล์ผ่านปอด แอลกอฮอล์บางส่วนจะแพร่ออกสู่อากาศ (ลมหายใจ) ซึ่งการวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจจะสามารถนำไปสู่การวิเคราะห์หาปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดได้
หลักการทำงาน
สำหรับการทำงานของเครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจนั้น ในการตรวจจะให้ผู้ตรวจเป่าลมหายใจเข้าเครื่องซึ่งมีตัวตรวจจับแอลกอฮอล์ (Alcohol Detector) ซึ่งมี 4 แบบ ได้แก่
- Colorimeter เปลี่ยนสีจากสีเหลืองเป็นเขียว เมื่อได้รับสารแอลกอฮอล์
- Semiconductor หรือสารกึ่งตัวนำ เป็นเครื่องที่ใช้ทดสอบตัวเอง พกพาสะดวก แต่ไม่มีความเที่ยงตรง
- Fuel cell หรือเซลไฟฟ้าเคมี มีความเที่ยงตรง สามารถใช้เป็นหลักฐานทางคดีได้ ตัวเครื่องมีขนาดเล็ก มีราคาสูงและ
- Infrared มีความเที่ยงตรง สามารถใช้เป็นหลักฐานทางคดีได้ ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับใช้ประจำที่ เช่น สถานีตำรวจ
ทั้งนี้ตัวตรวจจับเมื่อได้รับแอลกอฮอล์จากลมหายใจ จะมีการแปรสภาพ การเปลี่ยนแปลงสีของสารเคมี หรือวัดได้จากพลังงาน เช่น กระแสไฟฟ้า ความต่างศักย์ โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพนี้ จะถูกแปลค่าให้รายงานออกมาที่หน้าปัดของเครื่อง ในปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด (Blood Alcohol Concentration: BAC) ทั้งนี้ โดยอาศัยการคำนวณค่าจาก ค่าความสัมพันธ์ของสัมประสิทธิ์ในการแปลงค่าปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเป็น ปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจ
www.lvcriminaldefense.com/dui/breathalyzer-test/
การวัดและระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่กฎหมายกำหนด
การที่เครื่องวัดฯ จะวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจากลมหายใจได้ถูกต้อง ต้องใช้ลมหายใจจากส่วนลึกของปอดที่สัมผัสกับเส้นเลือดฝอยในปอด เพื่อจะให้ได้ค่าปริมาณแอลกอฮอล์ที่ถูกต้อง ผู้ผลิตได้ออกแบบให้เครื่องวัดฯ เมื่อถูกเป่าลมหายใจเข้าเครื่องต่อเนื่องไปได้ระยะหนึ่ง ความแรงในการเป่าจะลดลง สูบไฟฟ้าในเครื่องฯ จะเก็บตัวอย่างลมหายใจประมาณ 1 ซีซี แบบอัตโนมัติ
ในกรณีที่เครื่องไม่ได้ออกแบบให้เก็บตัวอย่างลมหายใจแบบอัตโนมัติ การตรวจวัดต้องให้ผู้ถูกตรวจเป่าลมหายใจเข้าเครื่องอย่างต่อเนื่อง และผู้ที่ทำการตรวจวัด จะนับ 1 ถึง 5 ในใจอย่างช้า ๆ เมื่อนับครบแล้ว จึงกดปุ่มรับตัวอย่าง เพื่อให้สูบไฟฟ้าเก็บตัวอย่าง
ทั้งนี้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสำหรับผู้ขับขี่ไม่ให้เกิน 50 mg/100ml หรือ 50 mg %
ตามประกาศกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับที่ 16/2537 ผู้ฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โอกาสในการเกิดอุบัติเหตุ
เมื่อเปรียบเทียบระดับแอลกอฮอล์ในเลือดกับโอกาสเกิดอุบัติเหตุจราจร พบว่า
ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด (mg%) โอกาสเกิดอุบัติเหตุเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ดื่มสุรา 20 ใกล้เคียงกับคนไม่ดื่มสุรา 30 จะมีอาการสนุกสนาน ร่าเริง 50 “เกิน 50 ถือว่าเมาสุรา” จะทำให้การเคลื่อนไหวช้าลง โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 2 เท่า 80 โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 3 เท่า 100 จะเมาเดินไม่ตรงทาง โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 6 เท่า 150 โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 40 เท่า 200 จะเกิดอาการสับสน 300 จะเกิดอาการง่วงซึม 400 จะเกิดอาการสลบ อาจถึงตาย
ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด (mg%) | โอกาสเกิดอุบัติเหตุเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ดื่มสุรา |
20 | ใกล้เคียงกับคนไม่ดื่มสุรา |
30 | จะมีอาการสนุกสนาน ร่าเริง |
50 “เกิน 50 ถือว่าเมาสุรา” | จะทำให้การเคลื่อนไหวช้าลง โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 2 เท่า |
80 | โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 3 เท่า |
100 | จะเมาเดินไม่ตรงทาง โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 6 เท่า |
150 | โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 40 เท่า |
200 | จะเกิดอาการสับสน |
300 | จะเกิดอาการง่วงซึม |
400 | จะเกิดอาการสลบ อาจถึงตาย |
จากข้อมูลเบื้องต้น ทุกคนจะเห็นว่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะทำให้เกิดอันตราย โดยระดับตั้งแต่ 50 mg % จะมีผลต่อการทำงานของระบบประสาทและระบบกล้ามเนื้อ ทำให้การทำงานช้าลง ถ้าขับขี่ยานพาหนะ จะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าคนที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในร่างกายตั้งแต่ 2 เท่าขึ้นไป
หากจำเป็นต้องดื่มแอลกอฮอล์ ควรไปรถโดยสาร หรือรถรับจ้างสาธารณะ หรือมีผู้อื่นขับรถให้
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์บริการวิชาการและพัฒนาบุคลากรด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาสารเสพติด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ www.sri.cmu.ac.th, ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล www.si.mahidol.ac.th, กองรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546
ภาพประกอบจาก : www.breathalyzer.net