เรื่องน่ารู้ ถุงยางอนามัยชาย (Male condom)
ถุงยางอนามัย (Condom) มาจากภาษาลาติน แปลว่า ภาชนะที่รองรับ มีทั้งที่ทำจากลำไส้สัตว์ (Skin condom) ทำจากวัสดุยางพารา (Rubber condom or latex condom) และทำจากวัสดุสังเคราะห์ (Rolyurethane condom) และมีทั้งแบบถุงยางอนามัยชายและถุงยางอนามัยหญิงสำหรับถุงยางอนามัยชาย ฝ่ายชายใช้สวมครอบองคชาตของตนเอง
โดยประเทศไทยมีจำหน่ายขนาดหลัก ๆ 2 ขนาดคือ ขนาดความกว้าง 49 มม. และขนาดความกว้าง 52 มม. ทั้งนี้มีการศึกษาวิจัยทางการแพทย์สรุปไว้อย่างชัดเจนว่า การใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการป้องกันการตั้งครรภ์และการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หนองใน และเอดส์ได้ โดยปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ จะมาจากการใช้ถุงยางที่ไม่ถูกต้อง
การใช้ถุงยางอนามัยให้ถูกวิธี
ก่อนอื่นผู้ใช้ต้องเลือกซื้อให้เหมาะสมกับขนาดองคชาตตรวจสอบวันหมดอายุและรอยฉีกขาด ไม่ควรนำมาใช้หากพบรอยฉีกขาดที่ซอง การฉีกซองควรใช้มือฉีก ไม่ควรใช้กรรไกร และปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ผู้ใช้ต้องใส่และถอดให้ถูกวิธี โดยให้ใส่เมื่อองคชาตแข็งตัวเต็มที่เท่านั้น โดยผู้ที่ไม่ได้ขลิบปลายองคชาตต้องดึงหนังหุ้ม รูดให้สุดเสียก่อน
- บีบปลายกะเปาะไล่ลม แล้วสวมลงบนองคชาต โดยให้ด้านที่มีขอบม้วนอยู่ด้านนอก รูดลงมาจนถึงโคน กรณีที่ใส่ผิดด้าน จะทำให้ไม่สามารถรูดถุงยางอนามัยจนถึงโคนได้ควรทิ้งถุงยางอนามัยนั้นไปเลย
- เมื่อเสร็จการร่วมเพศ ค่อย ๆ ใช้กระดาษทิชชูรูดถุงยางออกจากองคชาตในขณะที่ยังแข็งตัวมิฉะนั้นถุงยางอาจจะหลุดอยู่ในช่องคลอดได้ และล้างอวัยวะเพศทันที
ประสิทธิภาพของถุงยางอนามัย
- ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด การใช้ถุงยางอนามัยเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ดี เพราะมีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ หากเลือกใช้ถุงยางอนามัยที่ได้มาตรฐาน โดยทั่วไปหากผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ 100 คน มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันเป็นเวลา1 ปี พบว่า 80 – 90 คน จะตั้งครรภ์หากใช้ถุงยางอนามัยสำหรับเพศชายอย่างถูกต้อง พบว่าเพียง 2 จาก 100 คน จะตั้งครรภ์ แต่หากใช้ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง จะมีโอกาสตั้งครรภ์ถึง 15 จาก 100 คน สำหรับถุงยางอนามัยที่ออกแบบเพื่อเพิ่มความสุขในขณะมีเพศสัมพันธ์ เช่น มีตัวตุ๊กตา รอยตะปุ่มตะป่ำขนาดใหญ่ พบว่าจะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลง
- ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การใช้ถุงยางอนามัยสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่ได้ เช่น โรคเอดส์ ไวรัสตับอักเสบบี หนองในเทียม หนองในแท้ พยาธิในช่องคลอด ซิฟิลิส แต่ป้องกันโรคที่ติดจากการสัมผัสหรือความใกล้ชิดได้ไม่ดีนัก เช่น โลน หิด เริม หูดหงอนไก่ หูดข้าวสุก เป็นต้น
ปัญหาที่พบบ่อยจากการใช้ถุงยางอนามัยไม่ถูกต้อง
สำหรับปัญหาที่พบบ่อยจากการใช้ถุงยางอนามัยไม่ถูกต้อง จนทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดและการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ลดลง ได้แก่
- ใช้สารหล่อลื่นไม่ถูกต้อง ทำให้ถุงยางแตกหรือลื่นหลุด เช่น การใช้สารหล่อลื่นชนิดละลายในน้ำมันกับถุงยางอนามัยที่ทำจากยางลาเท็กซ์ทำให้แตกง่าย
- ไม่ใช้ถุงยางอนามัยใหม่แกะกล่อง
- ใช้ถุงยางเพียงครั้งแรกเท่านั้น เมื่อมีเพศสัมพันธ์ต่อไปไม่ได้ใช้ถุงยาง
- ใช้ถุงยางอนามัยที่เสื่อมสภาพอย่างเห็นได้ชัด
- มึนเมาสุราหรือสารเสพติด จึงตัดสินใจถอดถุงยางทิ้งกลางคัน
- แกะถุงยางอนามัยออกมาเล่น ก่อนมีเพศสัมพันธ์
- ใส่ถุงยางผิดด้านแล้วนำกลับมาใช้ใหม่
ดังนั้น หัวใจสำคัญในเรื่องการใช้ถุงยางอนามัยจึงมีสองประการ คือ ต้องใช้ทุกครั้งและใช้อย่างถูกต้อง
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.si.mahidol.ac.th www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจาก : www.bangkokbiznews.com www.careguru.in