การฝังเข็ม (Acupuncture) คืออะไร
การฝังเข็มเจ็บหรือไม่ ?
ขณะที่เข็มผ่านผิวหนัง จะมีอาการเจ็บอยู่บ้างแต่ไม่มาก และเมื่อเข็มแทงเข้าไปลึกถึงตำแหน่งของจุดฝังเข็มจะมีอาการปวดตื้อ ๆ หรือปวดหน่วง ๆ และปวดร้าวไปตามทางเดินของเส้นลมปราณ
เข็มที่ใช้ฝังเป็นอย่างไร
เข็มที่ใช้ในการฝังเข็มมีขนาดเล็กและบางมาก เป็นเข็มตันปลายตัด ไม่มีสารหรือยาชนิดใดเคลือบอยู่
การฝังเข็มรักษาอาการอะไรได้บ้าง
การฝังเข็มสามารถรักษาหรือบรรเทาอาการของโรคได้หลายโรค ได้แก่
- อาการปวดต่าง ๆ เช่น ปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดเข่า ปวดไมเกรน ปวดศีรษะ ปวดประจำเดือน
- อาการอ่อนแรงจากอัมพฤกษ์ อัมพาต
- อาการของภูมิแพ้ หวัดเรื้อรัง หอบหืด ไซนัสอักเสบ
- อาการเครียด นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า
- อาการทางผิวหนัง เช่น สิว ฝ้า ผมร่วง ผื่นคัน
- อาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น สะอึก ปวดท้องเรื้อรัง โรคกระเพาะ
- ความดันโลหิตสูง และความดันโลหิตต่ำ
- ลดความอ้วน และเพิ่มน้ำหนักในคนผอม
- เลิกสิ่งเสพติดต่าง ๆ เช่น สุรา บุหรี่ ยาเสพติด
- เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ วัยทองทั้งหญิงและชาย
- อาการอื่น ๆ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
ชนิดการรักษาในหน่วยเวชศาสตร์แผนจีน
- การฝังเข็มร่างกาย (Body Acupuncture)
- การฝังเข็มที่ศีรษะ (Scalp Acupuncture)
- การฝังเข็มร่วมกับการกระตุ้นไฟฟ้า (Electro Acupuncture)
- การครอบแก้ว (Cupping)
วิธีการอื่น ๆ ที่แพทย์แนะนำ
- การเคาะด้วยเข็มดอกเหมย กระตุ้นผิวหนัง (Cutaneous needle)
- การเจาะปล่อยเลือด (Blood Letting)
- การฝังเข็มบนใบหู (Ear Acupuncture) ด้วยเม็ดผักกาด หรือเม็ดแม่เหล็ก (Magnetic Ball)
- การรมยา (Moxibution)
การกระตุ้นด้วยเครื่องไฟฟ้า
เมื่อฝังเข็มแล้ว ใช้สายไฟเชื่อมต่อเข็มกับเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าชนิดพิเศษเป็นกระแสไฟตรงเพียง 9 โวลท์ จึงไม่ทำให้เกิดไฟดูด แต่จะกระตุ้นกล้ามเนื้อเป็นจังหวะตามกระแสไฟฟ้า ทำให้เข็มกระดิกตาม และไม่ทำให้เจ็บปวดจนทนไม่ไหว
การครอบแก้ว (Cupping)
เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและขจัดความชื้นในบริเวณที่ลมปราณมีการติดขัด ทำให้รักษาอาการปวดได้ หลังจากการทำแล้ว บริเวณผิวหนังอาจมีสีม่วงคล้ำเป็นจ้ำ แต่ไม่มีอันตราย และจะหายได้เองในเวลา 1-2 สัปดาห์
ข้อห้ามในการฝังเข็ม
- สตรีตั้งครรภ์
- ผู้ป่วยโรคมะเร็ง (ที่ยังไม่ได้รับการรักษา)
- ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำ โรคไต โรคตับแข็ง โรคหัวใจ และผู้ป่วยที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด
- ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจ มีเครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือเคยได้รับการผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจ (bypass ) ไว้
- ผู้ที่มีผิวหนังอักเสบ หรือเป็นแผลบริเวณที่จะฝังเข็ม
การเตรียมตัวก่อนการฝังเข็ม
- พักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ และรับประทานอาหารก่อนมาฝังเข็มเสมอ เพราะถ้าฝังเข็มในช่วงผู้ป่วยหิวหรืออ่อนเพลีย จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นลมง่าย
- ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป ควรสวมกางเกงที่หลวม และสวมเสื้อแขนสั้น
- ปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด
ข้อปฏิบัติขณะฝังเข็ม
- ควรทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด และทำตามคำแนะนำของแพทย์
- สังเกตอาการผิดปกติ เช่น ปวดมากขึ้น หรือหน้ามืด จะเป็นลม ต้องรีบแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบทันที
- ไม่ควรขยับเขยื้อนแขนขาหรือบริเวณที่คาเข็มไว้ ในช่วงการรักษา (ประมาณ 20-30 นาที) เพื่อป้องกันไม่ให้เข็มบิดงอ อาจจะทำให้มีอาการปวดมากขึ้น
ต้องมารับการฝังเข็มบ่อยแค่ไหน
ควรมาฝังเข็มสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และรักษาต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ครั้ง หรือแล้วแต่การพิจารณาของแพทย์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: คณะกรรมการแผ่นพับเพื่อการประชาสัมพันธ์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล.(2010).การฝังเข็ม (Acupuncture) คืออะไร.6 ธันวาคม 2558.เข้าถึงจาก//www.tm.mahidol.ac.th
ภาพประกอบจาก : www.natural-fertility-info.com