ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

วิตามินธรรมชาติ ลดอาการเจ็บคอ นั้นโดยทั่วไป อาการเจ็บคอ (sore throat) อาจเกิดจากอาการของโรคภูมิแพ้ อาการทอนซิลอักเสบ การสัมผัสกับอากาศแห้งจัด รวมทั้งการสูดควันพิษ ซึ่งภายในลำคอจะเป็นสีแดงเรื่อ ทำให้รู้สึกระคายเคือง หรือสากคอ นอกจากนี้ อาการเจ็บคออาจทำให้ลำคออักเสบ โดยเริ่มจากด้านหลังของปาก ไปจนถึงหลอดอาหาร และอาจเป็นอาการแสดงเริ่มแรกของไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่ติดต่อจากการสัมผัสเชื้อโรคโดยตรง ทั้งเสมหะ และน้ำลาย ซึ่งอาการเจ็บคอที่พบส่วนใหญ่มีสาเหตุดังนี้

 

  1. การติดเชื้อไวรัส คือ สาเหตุหลักที่ทำให้คนเป็นไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอาการเจ็บคอมากที่สุด โดยปกติถ้าร่างกายสร้างภูมิต้านทานได้ ก็จะหายเป็นหวัดเองภายในหนึ่งสัปดาห์ อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการไข้ ปวดกล้ามเนื้อ และน้ำมูกไหล นอกจากนี้ อาการเจ็บคออาจเกิดจากโรคปอดบวม จากเชื้อไวรัส หรือ โมโนนิวคลีโอซิส
  2. การติดเชื้อแบคทีเรีย พบน้อยกว่าการติดเชื้อไวรัส แต่อาการอาจรุนแรงกว่ามาก ส่วนใหญ่จะแสดงอาการภายใน 2-7 วัน โดยเฉพาะในช่วงอายุ 5-25 ปี จะติดเชื้อกันง่าย ทั้งทางน้ำมูก และเสมหะ นอกจากนี้ ยังติดต่อทางอาหาร นม และน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัส ซึ่งถ้าไม่รักษาให้ทันท่วงที เชื้อโรคอาจลุกลามไปทำลายหัวใจและไตอย่างถาวร

บางคนที่มีอาการเจ็บคอ จนฝากล่องเสียงอักเสบ ช่องคอจะบวมมาก จนปิดทางเดินหายใจควรรีบพบแพทย์ เพราะอาจติดเชื้อสเตร็ปโทรต และเมื่อมีอาการติดเชื้อซ้ำบ่อยๆ จนเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือ เป็นไข้รูมาติกได้

 

ปรับตัวเพื่อลดเจ็บคอ

  1. ดื่มน้ำมากขึ้นกว่าเดิม 2 เท่า น้ำจะช่วยให้เสมหะเหนียวน้อยลง และขับออกง่ายขึ้น
  2. ปรับสภาพอากาศให้ชื้นขึ้นเล็กน้อย เช่น หาอ่างใส่น้ำมาวางบริเวณที่ร้อน หรือปลูกต้นไม้ในบ้าน เพื่อเพิ่มความชื้นในอากาศที่แห้ง จะช่วยให้เยื่อเมือกในช่องคอไม่แห้ง (เมื่อช่องคอแห้ง จะทำให้ระคายคอ และนอนไม่หลับ)
  3. หลีกเลี่ยงควันและมลพิษต่างๆ งดสูบบุหรี่ รวมทั้งสารระเหยจากน้ำยาทำความสะอาดในบ้าน หรือสีทาบ้าน เพราะจะยิ่งทำให้เจ็บคอมากขึ้น
  4. หลีกเลี่ยงอาหารก่อพิษ เช่น ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ อาหารที่มีน้ำตาลสูงจำพวกเค้ก ขนมหวาน เพราะจะมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดต่อมทอนซิลอักเสบ และโรคติดเชื้ออื่น ๆ อันเป็นสาเหตุของการเจ็บคอ
  5. ใช้เสียงให้น้อยลง เมื่ออาการเจ็บคอลุกลาม จนทำให้กล่องเสียงอักเสบ จนทำให้ระคายคอมากเวลาพูด หรือเสียงหายไปชั่วขณะ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และให้ความอบอุ่นกับร่างกายเยอะๆ

 

วิตามินธรรมชาติแก้อาการเจ็บคอ

  1. เบต้าแคโรทีนมีมากในแครอท ฟักทอง ตำลึง แค กระเพา ขี้เหล็ก ผักเซียงดา ยอดฟักขาว ผักติ้ว และผักแต้ว เมื่อสารเบต้าแคโรทีนเข้าสู่ร่างกาย จะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ ซึ่งช่วยทำให้เนื้อเยื่อของเมือกบุในลำคอ และทางเดินหายใจที่ต้องผลิตน้ำย่อยบ่อย ๆ มีความแข็งแรง
  2. วิตามินดีจาก ปลาที่มีไขมันมาก เช่น ปลาสวาย ปลาดุก ปลาช่อน ปลาจะละเม็ด ปลาซาบะปลาซาดีน ปลาแซลมอน และปลาทะเล เพราะวิตามินดีจากไขมันปลา จะช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อในลำคอ
  3. วิตามินอีมี มากในผลอะโวคาโด และอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง เพราะมีวิตามินอีที่ช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อ ที่ถูกเชื้อโรคทำลายให้แข็งแรง
  4. วิตามินบีโดย เฉพาะอาหารที่มีส่วน ผสมของ เชื้ออะซิโดฟิลัส (acidophilus) เช่น โยเกิร์ต เพราะจะช่วยทดแทนแบคทีเรียในลำไส้ ซึ่งเป็นแหล่งวิตามินบีบางชนิด ที่ถูกยาปฏิชีวนะทำลายไป

 

ยาแก้เจ็บคอจากก้นครัว

  1. เกลือ เกลือที่เราใช้ปรุงอาหารเป็นยาแก้เจ็บคอได้เป็นอย่างดี โดยผสมเกลือ 1 ช้อนชา กับน้ำอุ่น 1 แก้ว ใช้อมกลั้วคอ หรือทำเป็นน้ำยาบ้วนปาก วันละ 2-3 ครั้ง จะช่วยบรรเทาอาการได้
  2. น้ำอุ่น ผสมน้ำอุ่น 1 แก้วกับน้ำมะนาว หรือน้ำส้มไซเดอร์แอปเปิ้ล 1 ช้อนชา ใช้กลั้วคอ วันละ 2-3 ครั้ง ส่วนผสมดังกล่าวมีฤทธิ์เป็นกรด ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียและไวรัส

 

ผลไม้รสเปรี้ยวบรรเทาเจ็บคอ

อย่ามองข้ามผลไม้รสเปรี้ยวนะคะ เพราะกรดซีตริก (citric) ในรสเปรี้ยวมีสรรพคุณช่วยลดอาการเจ็บคอได้ดี และวิตามินซีจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกาย เพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย และช่วยลดระยะเวลาในการเป็นหวัดให้สั้นลง ซึ่งผลไม้รสเปรี้ยวทีเราแนะนำมีดังนี้

  • มะขามป้อม ใช้เนื้อผลแก่สดประมาณ 2-3 ผล โขลกพอแหลก แทรกเกลือเล็กน้อย อมหรือเคี้ยววันละ 3-4 ครั้ง วิตามินซี และรสเปรี้ยวอมฝาดในมะขามป้อม จะช่วยแก้หวัด ทำให้คอชุ่มชื่น แก้อาการคอแห้ง และแก้อาการเจ็บคอ
  • มะนาว ใช้ผลสดคั้นเอาแต่น้ำ แทรกเกลือเล็กน้อย จิบบ่อยๆ หรือ ใช้มะนาวครึ่งลูกบีบใส่น้ำอุ่นครึ่งแก้ว แล้วผสมน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา วิตามินซี และรสเปรี้ยวของมะนาวจะช่วยขับน้ำลาย ลดอาการระคายเคืองที่เยื่อบุผิวภายในลำคอ ส่วนน้ำผึ้งมีสรรพคุณบรรเทาอาการเจ็บคอ
  • มะขาม ใช้เนื้อในฝักแก่ของมะขามเปรี้ยว หรือมะขามเปียก จิ้มเกลือกินพอสมควร หรือจะคั้นเป็นน้ำมะขามแทรกเกลือเล็กน้อย และใช้จิบบ่อยๆ ก็ได้ เนื้อฝักแก่ รสเปรี้ยว ช่วยขับเสมหะ ทำให้คอชุ่มชื่น และแก้อาการเจ็บคอ
  • น้ำส้ม นำผลส้มประมาณ 3 ผล ล้างให้สะอาด คั้นเอาแต่น้ำ เติมน้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ และเกลือป่น 1/2 ช้อนชา จิบบ่อยๆเมื่อมีอาการ รสเปรี้ยวของส้มมีสรรพคุณแก้ไอ ขับเสมหะ และทำให้ชุ่มคอ
  • เสาวรส นำเสาวรสสุกประมาณ 2-3 ผล ล้างให้สะอาด ผ่าครึ่ง ใช้ช้อนตักเมล็ดและส่วนที่เป็นน้ำสีส้มออกจากเนื้อผล คั้นกรองด้วยกระชอนหรือผ้าขาวบาง เพื่อแยกเอาเมล็ดและเส้นใยออก เติมน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ ชิมรสตามใจชอบ จิบเมื่อมีอาการ รสเปรี้ยวของเสาวรสมีสรรพคุณช่วยขับเสมหะ และทำให้ชุ่มคอ

 

บำบัดด้วยน้ำมันหอม

ใช้น้ำมันกลิ่นยูคาลิปตัส เจอราเนียม ลาเวนเดอร์ และเสจอย่างใดอย่างหนึ่ง ทาบริเวณผิวหนัง ตั้งแต่ใต้คางไปสุดลำคอ หรือสูดดมไอระเหย โดยการหยดลงไปในเครื่องทำไอน้ำ หรืออ่างอาบน้ำ จะช่วยลดอาการเจ็บคอได้

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 193.(2009).วิตามินธรรมชาติ ลดอาการเจ็บคอ.25 มีนาคม 2558.
แหล่งที่มา: www.cheewajit.com
ภาพประกอบจาก: www.bloggang.com


-และอาหารเสริมที่ไม่คุ้มค่าเงิน.jpg

วิตามิน และอาหารเสริมที่ไม่คุ้มค่าเงิน มีทั้งประโยชน์และโทษ มาดูรีวิวข้อมูลใหม่ล่าสุดกันว่าตัวไหนนะ ที่ไม่ควรเสียเงินซื้อให้สิ้นเปลือง

 

  1. กลูต้าไธโอน จวบจนปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาขนาดใหญ่ที่พิสูจน์ได้ว่า กลูต้าไธโอนแบบรับประทาน จะสามารถถูกดูดซึมได้ ความน่าจะเป็นจึงเท่ากับว่า คุณเสียตังค์ฟรีเพื่อหลอกตัวเองว่ากินแล้วขาว
  2. แอลฟ่าโทโคฟีรอล หรือ วิตามินอี การศึกษาพบว่า การรับประทานวิตามินอีในฟอร์ม แอลฟ่าโทโคฟีรอล เพียงฟอร์มเดียวนั้น ทำให้ร่างกายขาดวิตามินอีฟอร์มอื่น และอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี
  3. โอเมก้า 6 อัตราส่วนกรดไขมัน 6:3 ในร่างกายเรานั้น ควรมีค่าไม่ต่างกันมาก แต่ในน้ำมันพืชทุกชนิดที่เรารับประทาน มีแต่กรดไขมันโอเมก้า 6 เราจึงไม่จำเป็นต้องซื้อโอเมก้า 6 มารับประทานเพิ่ม ให้เกิดความไม่สมดุลมากขึ้นไปอีก
  4. น้ำมันตับปลาฉลาม สรรพคุณของน้ำมันตับปลาฉลามยังไม่มีการพิสูจน์แน่ชัด แต่ที่ชัดเจนคือ การรับประทานน้ำมันตับปลาฉลาม ส่งผลเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ จึงเป็นเหตุผลง่ายๆที่คุณควรคิดให้ดีก่อนเสียเงินซื้อมารับประทาน
  5. วิตามินเอ หลายการศึกษาในระยะหลังพบว่า การรับประทานวิตามินเอสังเคราะห์ ให้ผลเชิงลบมากกว่าบวก โดยเฉพาะในผู้สูบบุหรี่ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งปอดได้ และวิตามินเอยังสะสมในร่างกาย ก่อให้เกิดอาการพิษสะสมได้หากรับประทานมากไป
  6. ธาตุเหล็ก ควรรับประทานเฉพาะผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ผู้บริจาคเลือด แต่ถ้าไม่มีข้อบ่งชี้ใด ๆ ไม่ควรซื้อมารับประทานเอง เพราะธาตุเหล็กที่มากเกิน ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ ในร่างกายได้
  7. วิตามินทุกตัวไม่ใช่ขนม ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนรับประทาน ว่าจำเป็นหรือไม่ ควรรับประทานอย่างไร มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง จึงจะปลอดภัยสูงสุด

 

ผู้เขียน: พญ. ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล. รพ.สมิตติเวช สุขุมวิท. “วิตามิน และอาหารเสริมที่ไม่คุ้มค่าเงิน” (ระบบออนไลน์)
แหล่งที่มา: www.samitivejhospitals.com
ภาพประกอบจาก: www.photos-public-domain.com

 

 


.jpg

วิตามินและแร่ธาตุคืออะไร ทำไมจึงสำคัญ เมื่อพูดถึงวิตามิน สิ่งแรกที่เรานึกถึงส่วนใหญ่คือ เม็ดยา ทั้งในรูปแบบเม็ด แคปซูล หรือผงละลายน้ำ จึงทำให้บางคนเกิดความสับสนระหว่างยาที่ใช้รักษาโรคกับวิตามิน ในความเป็นจริงแล้ววิตามินไม่ใช่ยารักษาโรค อธิบายง่าย ๆ ว่า วิตามินคือ สารอินทรีย์ที่จำเป็นต่อชีวิต มีความสำคัญต่อการทำหน้าที่ตามปกติของร่างกายเรา และร่างกายไม่สามารถสร้างหรือสังเคราะห์วิตามินขึ้นเองได้ วิตามินจึงได้มาจากการรับประทานอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่านั้น

 

สารอาหารกับวิตามิน

วิตามินไม่สามารถทดแทนโปรตีนหรือสารอาหารอื่น เช่น เกลือแร่ ไขมัน คาร์โบไฮเดรต น้ำ หรือแม้แต่ทดแทนกันเองได้ คุณไม่สามารถรับประทานแต่วิตามิน แล้วเลิกรับประทานอาหารอื่น ๆ เพื่อหวังให้มีสุขภาพที่ดีได้เพราะวิตามินและแร่ธาตุเป็นสารอาหารรอง (Micronutrients) ไม่ได้เป็นตัวที่ให้พลังงานกับเราโดยตรง เหมือนสารอาหารหลัก (Macronutrients) เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน ปริมาณของสารอาหารหลักและสารอาหารรองที่คุณต้องการเพื่อคงไว้ซึ่งสุขภาพดีนั้นแตกต่างกัน แต่ล้วนมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังเช่น ร่างกายจะคงอยู่ไม่ได้หากปราศจากวิตามินที่จำเป็นทุกชนิด

วิตามินส่วนใหญ่ถูกตั้งตามตัวอักษร แม้ว่าจะมีชื่อทางวิทยาศาสตร์แต่ไม่เป็นที่นิยมในการจดจำ วิตามินต่อไปนี้เป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน คือ วิตามิน A (เรตินอล แคโรทีน) วิตามิน B ได้แก่ B1(ไทอะมีน) B2 (ไรโบฟลาวิน ) B3 (ไนอะซิน) B4 (อะดีนีน ) B5 (กรดแพนโทเทนิก) B6 (ไพริด็อกซิน) B10 B11 (สารกระตุ้นการเจริญหรือโกร๊ธแฟ็กเตอร์) B12 (ไซยาโนโคบาลามิน) B13 (กรดออโรติก) B15 (กรดแพงเกมิก)B17 (อะมิกดาลิน) BC (กรดโฟลิก) BT (คาร์นิทีน) BXหรือPABA (กรดพารา-แอมิโนเบนโซอิก) วิตามิน C (กรดแอสคอร์บิก) วิตามิน D (แคลซิเฟอรอล ไวออสเตอรอล เออร์กอสเตอรอล) วิตามิน E (โทโคฟีรอล) วิตามิน K (เมนาไดโอน)

 

วิตามินและแร่ธาตุคืออะไร-ทำไมจึงสำคัญ

ภาพจาก : http://cdn.pleinair.it/wp-content/uploads/2016/04/20160411_vitamina_b_470.jpg

 

ว่าด้วยเรื่องของแร่ธาตุ

  • แม้ว่าร่างกายต้องการแร่ธาตุที่รู้จักกันประมาณ 18 ชนิด ในการรักษาสภาพและควบคุมการทำงาน แต่ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภค (RDA: Recommended Dietary Allowance) ได้กำหนดไว้เพียง 7 ตัว คือ แคลเซียม ไอโอดีน แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส ซีลีเนียม เหล็ก และสังกะสี
  • ไม่ว่าวิตามินจะมีความสำคัญเพียงใด แต่วิตามินจะไม่สามารถทำงานและไม่สามารถถูกดูดซึมได้เลยหากปราศจากแร่ธาตุ ถึงแม้ว่าร่างกายจะสังเคาะห์วิตามินบางตัวได้เอง แต่กลับไม่สามารถผลิตแร่ธาตุได้เลยสักตัว ยกตัวอย่าง แร่ธาตุที่ช่วยเสริมการทำงานให้วิตามินทำงานได้มีประสิทธิภาพ เช่น วิตามิน A ทำงานร่วมกับแร่ธาตุอย่าง แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส ซีลีเนียม และสังกะสี ได้ดีที่สุด
  • การทำงานของวิตามิน B ต่าง ๆ ทำงานร่วมกับแร่ธาตุกลุ่มดังกล่าว รวมถึงโคบอลต์ ทองแดง เหล็ก แมงกานีส โพแทสเซียม และโซเดียมด้วย
  • ส่วนวิตามิน C ทำงานร่วมกับแร่ธาตุแคลเซียม โคบอลต์ ทองแดง เหล็กและโซเดียม สำหรับวิตามินดี ได้แก่ แคลเซียม ทองแดง แมกนีเซียม ซีลีเนียม และโซเดียม และสำหรับวิตามิน E ทำงานได้ดีหากได้ร่วมกับแร่ธาตุ แคลเซียม เหล็ก แมงกานีส ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ซีลีเนียม โซเดียม และสังกะสี เป็นต้น
  • จากการที่แร่ธาตุช่วยส่งเสริมให้วิตามินมีประสิทธิภาพมากขึ้นนี้ จะสังเกตได้ว่าในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะมีส่วนประกอบของวิตามินและแร่ธาตุร่วมด้วยเสมอ

 

วิตามินมีแหล่งที่มาจากอะไร แตกต่างกันอย่างไร

วิตามินแบ่งออกเป็นวิตามินธรรมชาติและวิตามินสังเคราะห์ ทั้ง 2 ชนิดจะให้ประสิทธิผล เช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกัน คือ วิตามินธรรมชาติจะให้ประโยชน์ที่หลากหลายกว่าวิตามินสังเคราะห์ ถึงแม้ว่าโครงสร้างทางเคมีของวิตามินทั้ง 2 ชนิดจะเหมือนกัน แต่วิตามินธรรมชาติมี ส่วนประกอบที่มากกว่า เช่น วิตามิน C สังเคราะห์มีเพียงกรดแอสคอร์บิกเท่านั้น แต่วิตามิน C ธรรมชาติจะ มีไบโอฟลาโวนอยด์ ซีคอมเพล็กซ์ทั้งกลุ่มเพิ่มขึ้นมา จึงส่งผลให้วิตามิน C ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่า

นายแพทย์เธรอน จีแรนดอล์ฟ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้ให้ความเห็นว่า “สารที่สังเคราะห์อาจทำ ให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ในคนที่มีแนวโน้มว่าจะแพ้ง่าย ถึงแม้ว่าสารที่มีโครงสร้างทางเคมีแบบเดียวกันจาก ธรรมชาติจะไม่ทำให้เกิดการแพ้แต่อย่างใด”

แหล่งที่มาของวิตามิน

แหล่งที่มาของวิตามินธรรมชาติต่าง ๆ ได้แก่

  • วิตามินเอ (Vitamin A) มักมาจากน้ำมันตับปลา
  • วิตามินบี (Vitamin B) รวมได้มาจากยีสต์หรือตับ
  • วิตามินซี (Vitamin C) พบในผลไม้รสเปรี้ยว หรือที่ดีที่สุดคือสารสกัดมาจากโรสฮิป ซึ่งเป็นผลของกุหลาบชนิดหนึ่ง
  • วิตามินอี (Vitamin E) จากสารสกัดจากถั่วเหลือง จมูกข้าวสาลี หรือข้าวโพด

 

จะรับประทานวิตามินเสริมอาหารเมื่อใดและอย่างไร

  • ช่วงเวลาที่แนะนำสำหรับรับประทานวิตามินคือ พร้อมมื้ออาหารหรือหลังอาหาร เนื่องจากวิตามินเป็นสารอินทรีย์ จึงควรรับประทานพร้อมอาหารและแร่ธาตุอื่นๆเพื่อการดูดซึมที่ดีที่สุด
  • หากคุณต้องรับประทานวิตามินที่ละลายได้ในน้ำ ได้แก่ วิตามิน B และ C ซึ่งจะถูกขับออกทางปัสสาวะอย่างรวดเร็ว คุณสามารถรับประทานพร้อมอาหารเช้า กลางวันและเย็นได้ จะช่วยให้ร่างกายคุณมีวิตามินในระดับสูงตลอดทั้งวัน แต่ถ้าไม่สะดวกที่จะรับประทานหลังอาหารทุกมื้อ อาจรับประทานครึ่งหนึ่งหลังอาหารเช้าและอีกครึ่งหนึ่งหลังอาหารเย็นแทนได้
  • หากคุณต้องรับประทานวิตามินทั้งหมดภายในมื้อเดียว ควรเลือกรับประทานหลังอาหารมื้อใหญ่สุดของวัน และอย่าลืมว่า แร่ธาตุสำคัญอย่างยิ่งต่อการดูดซึมของวิตามิน คุณจึงควรรับประทานวิตามินและแร่ธาตุไปพร้อม ๆ กัน

 

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิตามินที่คุณอาจไม่เคยรู้

  • การสูบบุหรี่หนึ่งมวนทำลายวิตามินซี ถึง 25 – 100 มิลลิกรัม
  • ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ที่มีควันพิษหนาแน่นจะไม่ได้รับวิตามินดี อย่างที่ประเทศในชนบทได้รับ เพราะหมอกควันพิษขัดขวางการส่องผ่านของรังสียูวี
  • คนสูงอายุส่วนใหญ่ไม่ได้รับวิตามินดีอย่างพอเพียงจากอาหาร และร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ได้มากนัก เพราะได้รับแสงแดดไม่พอเพียง
  • การดื่มเครื่องดื่มมึนเมาเพียงวันละ 1 แก้ว ทำให้ร่างกายต้องสูญเสียวิตามิน B1 และ B6 และกรดโฟลิก
  • การรับประทานยาคุมกำเนิดอาจทำให้ร่างกายขาดวิตามิน B6 B12 โฟลิกและวิตามิน C
  • วิตามิน B1 ช่วยรักษาอาการเมารถ เมาเรือ และเมาเครื่องบินได้
  • ยาแอสไพรินสามารถเพิ่มอัตราการขับออกของวิตามินซีถึง 3 เท่า
  • ฟลาโวนอยด์ในองุ่นแดงมีประสิทธิภาพสูงกว่าวิตามินอีมากกว่าพันเท่า ในการยับยั้งปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของคอเลสเตอรอลชนิด LDL
  • หากคุณต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเป็นเวลา 1 สัปดาห์หรือมากกว่า คุณจำเป็นต้องเสริมแคลเซียมเป็นพิเศษ เพราะร่างกายสูญเสียความหนาแน่นของมวลกระดูกไปในระหว่างที่ต้องนอนนานๆ
  • จะเห็นได้ว่าวิตามินและแร่ธาตุเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตและมีความสำคัญต่อการทำหน้าที่ในร่างกาย ไม่เพียงแต่การทานอาหารห้ครบทุกหมู่เพื่อให้ได้วิตามินและแร่ธาตุที่ครบถ้วนแล้ว ควรการหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการทานอาหาร หรือยาบางอย่างเพื่อลดการทำลายวิตามินในร่างกายของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

เอกสารอ้างอิง
1. Earl Mindell and Hester Mundis Armonk. The New vitamin bible. New Yotk U.S.A ; 2004
2. http://www.nutritionthailand.org/th/

 

ผู้เขียน: ภญ. เสาวลักษณ์ ตุรงคราวี. ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “วิตามินและแร่ธาตุคืออะไร ทำไมจึงสำคัญ”.
แหล่งที่มา: http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/index.php 
ภาพประกอบจาก: http://www.cure-naturali.it/site/image/content/19545.jpg?format=jpg


-วิตามิน-อี.jpg

วิตามินอี (Vitamin E) เป็นวิตามินชนิดหนึ่ง ที่นำมาใช้เสริมสุขภาพอย่างแพร่หลาย เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้ยาเพื่อเสริมสุขภาพมากมาย โดยมีทั้งยาชนิดที่มีการวิจัยถึงผลประโยชน์ที่ชัดเจน และยาชนิดยังไม่ทราบประโยชน์ที่แน่ชัด โดยอาจมีอันตรายแอบแฝงอยู่ด้วย แต่ก็มีขายในท้องตลาดอย่างกว้างขวาง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้ในอาหารเสริมสุขภาพแต่ละชนิดเพื่อความปลอดภัยและประโยชน์ในการเลือกใช้ โดยเฉพาะเรื่องของ ” วิตามินอี ” ที่เราจะเอามาเล่าให้ฟัง 

 

วิตามินอี คืออะไร และสำคัญอย่างไร

วิตามินอี เป็นวิตามินชนิดหนึ่งที่ละลายในไขมัน และเป็นยาตัวหนึ่งที่นำมาใช้เสริมสุขภาพอย่างแพร่หลาย เราจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับประโยชน์และโทษของยาตัวนี้เป็นอย่างดี  มีรูปแบบอยู่ถึง 8 รูปแบบ สำหรับรูปแบบที่ออกฤทธิ์ได้ดี ได้แก่ แอลฟา-โทโคเฟอรอล เป็นสารต้านฤทธิ์ปฏิกิริยาออกซิเดชั่นที่มีประสิทธิภาพสูง ปฏิกิริยาออกซิเดชั่นนี้จะทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายต่อเซลล์และเนื้อเยื่อ อันส่งผลทำให้เกิดการเสื่อมสภาพ และโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง เป็นต้น

ได้มีการนำวิตามินอี มาใช้เพื่อการป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ ได้แก่ การชะลอความแก่ การรักษาผมร่วง การอักเสบของถุงน้ำในข้อ แผลในกระเพาะอาหาร โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง  การแท้ง การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ การมีบุตรยาก ใช้ลดการเจ็บครรภ์คลอด ใช้เป็นยาเสริมสุขภาพสตรีวัยทองและอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น รักษาหิมะกัด ผึ้งต่อย โดยอ้างอิงกลไกปฏิกิริยาของวิตามินอี และความเชื่อต่าง ๆ

ก่อนที่จะไปดูผลการศึกษาในรายงานต่าง ๆ ต้องเข้าใจเกี่ยวกับหลักการรับประทานหรือเสริมสารอาหาร แร่ธาตุ และวิตามินก่อน คือ ปกติแล้วในร่างกายมนุษย์จะต้องได้รับสารอาหาร แร่ธาตุ และวิตามินโดยมีความสมดุลย์ ปริมาณของสารอาหารชนิดต่างๆ แร่ธาตุ และวิตามินต้องการในแต่ละวันไม่เท่ากัน แต่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นปกติ ในกรณีที่มีการขาดของสารอาหารเหล่านี้ จะส่งผลต่อกิจกรรมต่างๆ ของร่างกายโดยทำให้เกิดอาการผิดปกติได้หลายอย่าง สำหรับวิตามินอี ความต้องการในแต่ละวันราว 5 – 30 หน่วยสากล ขึ้นอยู่กับช่วงอายุ เพศ และสภาพร่างกาย การรับประทานอาหารจำพวกไขมัน โดยในสตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตรจะมีความต้องการวิตามินอีสูงขึ้น เมื่อเกิดการขาดวิตามินตัวนี้จะส่งผลต่อสุขภาพและการเจริญเติบโต ทำให้การทำงานของระบบประสาทผิดปกติ การส่งกระแสประสาทช้าลง กล้ามเนื้ออ่อนแรงและพบการเสื่อมสภาพของจอประสาทตาที่อาจส่งผลทำให้เกิดตาบอดได้

 

ใครควรจะได้รับการเสริมวิตามิน อี

ความเหมาะสมของการเสริมวิตามิน อี หลักดังกล่าวมาแล้วคือ “สำหรับผู้ที่ขาดหรือมีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามิน อี ควรได้รับการเสริม”เริ่มตั้งแต่วัยเด็ก สมควรให้ในทารกที่เกิดก่อนกำหนด หรือน้ำหนักแรกเกิดกว่า 1,500 กรัม โดยการเสริมจะให้เสริมลงไปในนม สำหรับวัยผู้ใหญ่ สมควรให้ในผู้ที่มีปัญหาความผิดปกติของการย่อยไขมัน คือ ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเอากระเพาะบางส่วนหรือทั้งหมดออกไป ผู้ที่มีลำไส้อักเสบและมีปัญหาเรื่องการดูดซึมไขมัน สำหรับในปัจจุบันอาจพบปัญหาเพิ่มเติมขึ้นในสตรีที่ลดความอ้วนมาก ๆ โดยไม่รับประทานไขมันเลย หรือกินยาป้องกันการดูดซึมของไขมันก็อาจจะเสี่ยงต่อการขาดวิตามินได้

 

วิตามินอี พบมากในอาหารจำพวกใด

วิตามิน อี พบมากใน น้ำมันพืช ได้แก่ น้ำมันสกัดจากจมูกข้าวสาลี น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด ถั่วเมล็ดแห้ง ผักใบเขียว อย่างไรก็ตาม ขณะที่ร่างกายต้องการวิตามิน อี เพิ่มขึ้น การรับประทานสารอาหารจำพวกไขมันในปริมาณที่เหมาะสมก็มีความจำเป็นต่อการดูดซึมวิตามิน อี ด้วย

 

อันตรายจากการเสริมวิตามิน อี

จากข้อมูลปัจจุบันพบว่า วิตามินอี มีความปลอดภัยสูง โดยหากเสริมจากอาหารปริมาณที่ได้รับมักจะไม่เป็นอันตราย แต่หากรับประทานวิตามิน อี ที่เกิน 800 หน่วยสากลต่อวัน อาจจะส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด และเสี่ยงต่อปัญหาวิตามินอี (Vitamin E) เป็นวิตามินชนิดหนึ่ง ที่นำมาใช้เสริมสุขภาพอย่างแพร่หลาย เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้ยาเพื่อเสริมสุขภาพมากมาย โดยมีทั้งยาชนิดที่มีการวิจัยถึงผลประโยชน์ที่ชัดเจนาเรื่องเลือดออกง่ายได้

 

ข้อมูลของวิตามินอี ที่กำลังมีการศึกษา

ได้มีการศึกษาผลของการใช้วิตามิน อี ในการโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์อาการปวดกล้ามเนื้อเป็นพัก ๆ การเสื่อมของจอประสาทตาที่สัมพันธ์กับอายุและการเสริมวิตามิน อี ในผู้ป่วยจิตเวชที่มีภาวะแทรกซ้อนจากยาโดยมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ข้อมูลการศึกษาส่วนใหญ่ ยังไม่ชัดเจน และยังมีการศึกษาน้อย แต่มีแนวโน้มว่าน่าจะเป็นประโยชน์และไม่พบอาการข้างเคียงจากการใช้ที่รุนแรง สำหรับการศึกษาเพื่อเก็บข้อมูลจำนวนมากต้องใช้เวลาในการศึกษา จึงคงต้องติดตามผลการศึกษาเรื่องเหล่านี้ต่อไป

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: thaihealthy.(2009).ว่าด้วยเรื่องของวิตามินอี.28 ธันวาคม 2558.
แหล่งที่มา : www.thaihealthy.thaidietetics.org
ภาพประกอบจาก : www.stronglife.in.th


Vitamin-D-good-benefits.jpg

วิตามินดี ประโยชน์ที่ดี ๆ มีมากกว่าที่คุณคิด เราทุกคนต่างคุ้นเคยกับ วิตามินดี (vitamin D) เป็นอย่างดี แต่น่าแปลกใจที่วิตามินดี เป็นวิตามินที่หลายท่านละเลย เพราะเข้าใจว่าวิตามินชนิดนี้สามารถสร้างขึ้นได้ในร่างกายหลังจากถูกแสงแดด แต่ด้วยการใช้ชีวิตในปัจจุบันของคนเมืองส่วนใหญ่ มักนั่งทำงานในออฟฟิศ เมื่อต้องสัมผัสกับแสงแดดมักใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกาย รวมทั้งใช้ครีมกันแดด เป็นผลให้คนเมืองส่วนใหญ่ขาดวิตามินดีโดยไม่รู้ตัว

 

เราทราบว่าวิตามินดี มีหน้าที่หลักช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน ช่วยป้องกันโรคกระดูกบาง (osteopenia) และกระดูกพรุน (osteoporosis) แต่เราทราบหรือไม่ว่าวิตามินดี ยังมีความสำคัญต่อสุขภาพอื่นๆของเราอีกด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง (hypertension)1 กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย (immune system)2 ต้านโรคมะเร็งต่างๆ3 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทสำคัญในการเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกายในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม (osteoarthritis)4

 

Vitamin D good benefits

http://happyhormonesforlife.com/wp-content/uploads/2016/05/vitamin-d-e1462169471278.jpeg

  

วิตามินดีกับข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่พบจำนวนมากในผู้ป่วยสูงอายุ และเนื่องจากข้อเข่าเป็นอวัยวะที่ต้องรองรับน้ำหนักตัวอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพคล่องแคล่ว ปัญหาสำคัญของผู้ป่วยเมื่อข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น จะปวดบริเวณเข่าเมื่อมีการเคลื่อนไหว ส่งผลทำให้ปฏิบัติกิจกรรมต่างๆไม่คล่องเหมือนเดิม ซึ่งบั่นทอนคุณภาพชีวิตและสภาพจิตใจของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

หลายท่านคงทราบว่า การออกกำลังกายสม่ำเสมอและได้รับแคลเซียมในปริมาณที่พอเพียง สามารถช่วยชะลอการเสื่อมของข้อเข่าได้ แต่การรับประทานยาเม็ดแคลเซียมที่มากเกินไป ก็ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย โดยมีผลไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเนื่องจากขาดเลือด และโรคหลอดเลือดหัวใจ5 ดังนั้นการเสริมแคลเซียมอาจจะส่งผลเสียต่อผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่มีภาวะของโรคหัวใจร่วมด้วย ด้วยเหตุนี้การได้รับวิตามินที่สามารถบรรเทาอาการความรุนแรงของโรค อาจจะช่วยให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

วิตามินดี กับรายงานการศึกษา

มีรายงานการศึกษาที่เกี่ยวกับผลของการเสริมวิตามินดีต่อสมรรถภาพการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม จากการศึกษาของ Manoy และคณะ6 ที่ได้ศึกษาโดยการเสริมวิตามินดีให้แก่ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีภาวะขาดวิตามินดี โดยผู้ป่วยได้รับปริมาณวิตามินดีปริมาณ 40,000 IU ต่อสัปดาห์ เป็นเวลาหกเดือน และทุกสามเดือนคณะผู้วิจัยได้ทดสอบสมรรถภาพของผู้ป่วย โดยวัดกำลังของการกำมือ (grip strength) และทดสอบสมรรถภาพทางกายภาพ (physical performance) ประกอบด้วย การทดสอบ timed up and go (TUGT) การทดสอบ sit to stand (STS) และการทดสอบ six-minute walk (6-MW)

ผลการศึกษาพบว่า วิตามินดีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของแรงบีบมือ และสมรรถภาพทางร่างกายของผู้ป่วยโรคข้อเข้าเสื่อมที่มีภาวะขาดวิตามินดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้วิตามินดีมีหน้าที่สำคัญ ในการช่วยลดสารอนุมูลอิสระ ได้แก่ Protein carbonyl (สารที่ก่อให้เกิดการทำลายของโปรตีนในเซลล์) และระดับไขมันในเลือด ทำให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น7 ข้อมูลจากการศึกษาที่กล่าวไว้ข้างต้นได้สนับสนุนผลของวิตามินดีต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย และช่วยลดการเกิดสภาวะเครียดออกซิเดชั่น (oxidative stress) ซึ่งช่วยชะลอการแก่ของเซลล์ต่าง ๆ ในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้อย่างชัดเจน

 

ทางเลือกในการรับวิตามินดี

ผู้ป่วยหลายท่านหรือบุคคลทั่วไป อาจมีข้อสงสัยว่า หากไม่ต้องการสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานาน เนื่องจากแสงแดดมีผลเสียต่อผิวหนัง อาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง เราจะรับวิตามินดีจากทางใดได้บ้าง วิตามินดีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมันแบ่งออกเป็นสองชนิด คือ Ergocalciferol ซึ่งพบในยีสต์ และ Cholecalciferol พบได้ในน้ำมันตับปลา ไข่แดง และสามารถสังเคราะห์ได้ที่ผิวหนัง ส่วนในน้ำนม สามารถพบวิตามินดีได้ทั้งสองชนิด

ปริมาณวิตามินดีที่เหมาะสมกับร่างกายของแต่ละบุคคล อาจได้รับในปริมาณที่แตกต่างกัน สำหรับคำแนะนำในการรับประทานวิตามินดีสำหรับบุคคลทั่วไป และสำหรับผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินดี รายละเอียดดังแสดงในตารางที่ 1 และ 2 ตามลำดับ

 

ตารางที่ 1 ปริมาณวิตามินดีที่แนะนำต่อวันสำหรับบุคคลทั่วไป โดยแบ่งออกตามช่วงอายุ8

WordPress Tables Plugin

 

ตารางที่ 2 ปริมาณวิตามินดีที่แนะนำต่อวันสำหรับผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินดี โดยแบ่งออกตามช่วงอายุ8

WordPress Tables Plugin

 

จากข้อมูลงานวิจัย ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการได้รับวิตามินดีที่มีผลต่อร่างกายไม่เพียงเฉพาะแค่กระดูก แต่มีผลสำคัญในระบบอื่น ๆ ด้วย และเพื่อป้องกันการขาดวิตามินดี เราควรปรับวิธีการดำเนินชีวิต เช่น สัมผัสแสงแดด โดยเฉพาะแสงแดดตอนเช้า หรือเลือกรับประทานอาหารจำพวกปลาที่มีไขมันสูง ดื่มนมที่มีการเติมวิตามินดี นอกจากนี้ การรับประทานวิตามินดีในรูปของอาหารเสริม (ปริมาณวิตามินดี 400 – 1,000 IU) เป็นอีกหนึ่งทางเลือก

แต่อย่างไรก็ตามการรักษาที่ถูกต้องที่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวัดระดับวิตามินดีในเลือดก่อนเสริมวิตามิน เนื่องจากการรับประทานวิตามินดีในปริมาณมาก เกินความต้องการต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน (20,000 IU ต่อวัน) อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Kendrick J, Andrews E, You Z, et al. Cholecalciferol, Calcitriol, and Vascular Function in CKD: A Randomized, Double-Blind Trial. Clin J Am Soc Nephrol 2017:7
  2. Looman KIM, Jansen MAE, Voortman T, et al. The role of vitamin D on circulating memory T cells in children: The Generation R study. Pediatr Allergy Immunol 2017:7
  3. Shaw E, Massaro N, Brockton NT. The role of vitamin D in hepatic metastases from colorectal cancer. Clin Transl Oncol 2017:11
  4. Mabey T, Honsawek S. Role of Vitamin D in Osteoarthritis: Molecular, Cellular, and Clinical Perspectives. Int J Endocrinol 2015:383918
  5. Bolland MJ, Avenell A, Baron JA, et al. Effect of calcium supplements on risk of myocardial infarction and cardiovascular events: meta-analysis. BMJ 2010;341:c3691
  6. Manoy P, Anomasiri W, Yuktanandana P, et al. Elevated serum leptin levels are associated with low vitamin D, sarcopenic obesity, poor muscle strength, and physical performance in knee osteoarthritis. Biomarkers 2017;19:1-8
  7. Manoy P, Yuktanandana P, Tanavalee A, et al. Vitamin D supplement improves quality of life and physical performance in osteoarthritis patients. Nutrients 2017;9:799
  8. Institute of Medicine, Food and Nutrition Board. Dietary Reference Intakes for Calcium and Vitamin D. Washington, DC: National Academy Press, 2010

 

ผู้เขียน: อาจารย์ ดร.วันวิสาข์ อุดมสินประเสริฐ. ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2560 (ระบบออนไลน์).
แหล่งที่มา: http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/406/วิตามีนดี-VitaminD/
ภาพประกอบจาก: อินเตอร์เน็ต และเว็บไซต์ใต้รูป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก